ปลัดเกษตรฯ ร่วมเปิดงานกรมหม่อนไหม ครบรอบ 15 ปี ประกาศยกระดับ “ไหมไทย” เพิ่มมูลค่า สู่ Soft Power สืบสานภูมิปัญญาสู่ความยั่งยืน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี ภายใต้แนวคิด “Eco Silk : ไหมรักษ์โลก” โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ กรมหม่อนไหม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม มีการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ใช้“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า อีกทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมุ่งเน้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหม่อนไหม ให้คงอยู่เป็นมรดกของชาติ ตลอดจนสนับสนุนให้เป็น Soft Power ของไทย เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้เทคโนโลยีพัฒนาสายพันธุ์ไหม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น ไหมพันธุ์ศรีสะเกษ 72” หรือ “ทับทิมวนา” ซึ่งมีรังไหมสีเหลืองเข้ม มีความแข็งแรง เลี้ยงง่ายให้ผลผลิตสูง นอกจากนี้ ยังพัฒนาไปถึงการนำมาใช้ในแวดวงการแพทย์ เช่น แผ่นปิดแผลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและสำหรับใช้ฟื้นฟูเนื้อเยื่อเต้านมที่เกิดจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม รวมทั้งการต่อยอดการพัฒนาสินค้าประเภท Functional Food เช่น ผงโปรตีนจากดักแด้และหนอนไหม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากใบหม่อน และใบหม่อนสำหรับเป็นอาหารเสริมในสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนเกษตรกรหม่อนไหมรายใหม่และฟื้นฟูเกษตรกรรายเดิม โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรหม่อนไหม จำนวน 24,505 ราย มากกว่าเป้าหมาย ถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้สนับสนุนพันธุ์หม่อนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 2.6 ล้านต้น และผลิตไข่ไหมพันธุ์ดี 101,392 แผ่น แจกจ่ายให้กับเกษตรกร จำนวน 13,730 ราย
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจับมือกับภาคเอกชนในการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) เพื่อช่วยรับประกันราคาผลผลิตและสร้างตลาดที่มีความมั่นคงให้เกษตรกร การส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ และงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 19 ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ กว่า 44 ล้านบาท โดยมีผลสัมฤทธิ์จากการขับเคลื่อนภารกิจของกรมหม่อนไหม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2567 สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการหม่อนไหม รวมทั้งสิ้นกว่า 1,296 ล้านบาท จึงทำให้กรมหม่อนไหมได้รับรางวัลเลิศรัฐ รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลระดับดีรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วมประจำปี 2567 เรื่อง “tonmonsilk : buriram model สืบสานไหมไทย ไว้ให้คงอยู่คู่แผ่นดิน” นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมหม่อนไหม โดยรางวัลดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้กรมหม่อนไหมเดินหน้าทำงานเคียงข้างเกษตรกร พัฒนางานด้านหม่อนไหม พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ และขับเคลื่อนการพัฒนาหม่อนไหมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป