คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม ๑๑ ญัตติ ซึ่งได้พิจารณารวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป สรุปได้ ดังนี้
๑. สินค้าข้าว มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต ๒๕๖๖/๖๗ เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร)
๒. สินค้ามันสำปะหลัง มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังปี ๒๕๖๖/๖๗ เช่น โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการ ลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคาร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรใช้เป็นเงินทุนในการรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันเส้นจากเกษตรกร และ/หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก
๓. สินค้าอ้อย มีกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรการและการแก้ไขปัญหาสินค้าอ้อยทั้งระบบ
๔. สินค้ายางพารา ได้จัดทำมาตรการระยะสั้น เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะปานกลาง เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตจากยางพาราขั้นต้นเป็นการแปรรูปขั้นกลาง จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น และระยะยาว เช่น วิจัยและส่งเสริมการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา
๕. สินค้าปาล์มน้ำมันได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน โดยกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจุดรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน (ลานเท) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผลปาล์มน้ำมันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยใช้ ตะแกรง รางเทสำหรับลำเลียงทะลายปาล์มน้ำมันที่เป็นตะแกรง อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดสำหรับแยกผลปาล์มน้ำมันร่วง” อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจัดทำโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ราคาซื้อขายจะไม่ผันผวน ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เป็นธรรม
๖. สินค้าผลไม้ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการ แบ่งเป็น ระยะสั้น เช่น จัดตั้งศูนย์รวบรวม/กระจาย ระดับพื้นที่เพื่อเร่งกระจายผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ระยะปานกลาง เช่น จัดทำแผนบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัว ส่งเสริมและสนับสนุนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ระยะยาว เช่น ส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
๗. สินค้าปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ เช่น ใช้กลไกกำกับดูแลของคณะกรรมการรายชนิดสัตว์ เช่น สินค้าสุกร ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ สินค้าโคกระบือ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ - กระบือ ประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโคกระบือหรือซากโคซากกระบือและผลักดันการเปิดตลาดส่งออกโคและกระบือมีชีวิต รวมทั้งซากโคและซากกระบือ ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๘. สินค้ากุ้ง ได้มีมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนโครงการส่งเสริมการใช้ระบบ Solar Cell เพื่อลดต้นทุนการผลิต กรมประมงได้ดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.๑ (แบบผง) และ ปม.๒ (แบบน้ำ) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง และได้ดำเนินการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๘
๙. สินค้าปลากะพงขาว ได้ดำเนินมาตรการ เช่น ยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้า หากพบสารตกค้างจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และสั่งทำลายหรือดำเนินการอื่นใดตามเห็นสมควร และส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ ควบคุมการเกิดกลิ่นโคลน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการใช้ยาและสารเคมี และลดต้นทุนการเปลี่ยนถ่ายน้ำ