1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ตราสัญลักษณ์ 132 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 - 2570
20 ส.ค. 2567
221
0

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) ดำเนินการตามความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อจำกัดขอบเขตการระบาดของปลาหมอคางดำให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. ๒๕๖๗ - ๒๕๗๐ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอในครั้งนี้ เป็นแผนที่มีระยะเวลาดำเนินการถึงปี พ.ศ. ๒๕๗๐ ดังนั้น ในชั้นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงเห็นควรพิจารณาจำกัดขนาดของแผนปฏิบัติการฯ และระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นลงเหลือเท่าที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน และเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) เสนอแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

          โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หนังสือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ นร ๑๑๑๔/๔๗๘๐ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๗) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ดังนี้

          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดในกิจกรรมที่ ๑ การกำจัดในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่คุ้มครอง เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลนอนุรักษ์ อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา รวมทั้งพิจารณาถึงการป้องกันและควบคุมเส้นทางการแพร่ระบาดด้วย เป็นต้น การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในกิจกรรมที่ ๑ ควรพิจารณาดำเนินการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพหรือการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการปล่อยปลาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สู่สิ่งแวดล้อม และควรดำเนินการปล่อยปลาดังกล่าวในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ควรเพิ่มการจัดทำเกณฑ์การประเมินมูลค่าความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ ๓ ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน เพื่อให้สามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้โดยเร็วต่อไป

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง