ก.เกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 สมัยพิเศษ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 ส.ค. 2567
617
0
ก.เกษตรฯเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้
ก.เกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 สมัยพิเศษ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2567 นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM-AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 สมัยพิเศษ (Special SOM-45th AMAF Meeting) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของญี่ปุ่น (2nd SOM-AJMAF Meeting) พร้อมด้วย ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย ณ เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย

สำหรับการประชุมวันนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed (ARASFF) ได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบ ARASFF ในฐานะเครื่องมือแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารของอาเซียน ซึ่งประเทศไทยขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกนำเข้าข้อมูลการใช้งานระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำไปจัดทำนโยบายด้านการควบคุมความปลอดภัยทางด้านอาหารภายในภูมิภาค อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมต่อนโยบายของอาเซียนเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารในอนาคต พร้อมทั้งผลักดันให้ประเทศสมาชิกเร่งรัดพัฒนาใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเลทรอนิกส์ (e-SPS) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของใบรับรองสุขอนามัยสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ (e-AH) เพื่อให้ครอบคลุมการรับรองทั้งในด้านโรคสัตว์และความปลอดภัยอาหาร ต่อไป

นายถาวร ทันใจ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยมีนโยบายลดการเผาในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน และอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา (GAP PM 2.5 Free) ซึ่งไทยประสงค์จะขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาดังกล่าว และเร่งดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเผาในภาคเกษตรในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็น Key Deliverable ของอาเซียนในปี 2567 นี้ อีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพสำหรับการประชุม ASWGL ครั้งที่ 33 ที่จะจัดขึ้นในปี 2568 โดยมีวาระที่สำคัญเกี่ยวกับการกำหนดท่าทีอาเซียนร่วมกันต่อข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำอีกด้วย ประเทศไทยสนับสนุนการทบทวนปรับปรุงโครงสร้าง Livestock Sector ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่า ACCAHZ จะเป็น Regional Mechanism ที่สำคัญในการสร้างความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือความท้าทายด้านสุขภาพสัตว์และสาธารณสุข รวมถึงสุขภาพหนึ่งเดียว ประเทศไทยขอให้ ASEC และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เร่งรัดและหาแนวทางการใช้เงินจากกองทุนสุขภาพสัตว์อาเซียน (ASEAN Animal Heath Trust Fund)

ตกลง