ผู้ตรวจเกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 23 สมัยพิเศษและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
8 ส.ค. 2567
46
0
ผู้ตรวจเกษตรฯเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้
ผู้ตรวจเกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 23 สมัยพิเศษและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM-AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 23 สมัยพิเศษ (Special SOM-23th AMAF Plus Three Meeting) การประชุมคณะทำงานอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 9 (9th AIWGAF Meeting) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 9 (9th ARSOMA Meeting) พร้อมด้วย ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วม ณ เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย

ในที่ประชุมฯ รับทราบความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้กรอบ ASEAN Plus Three Cooperation Strategy (APTCS) Framework on Food, Agriculture, and Forestry และรับทราบผลการดำเนินงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ซึ่งระหว่างปี 2566 - 2567 ประเทศจีนได้มีการบริจาคเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ (ข้าว 1,000 เมตริกตัน) ญี่ปุ่น บริจาคเงิน 720,000 เหรียญสหรัฐ (ข้าว 600 เมตริกตัน และ 622 เมตริกตัน ข้าวพร้อมรับประทาน 2 เมตริกตัน) และสาธารณรัฐเกาหลี บริจาคข้าว 10,000 เมตริกตัน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) และเน้นย้ำความสำคัญ ของ AFSIS ซึ่งเป็นกลไกที่มีความยั่งยืนในการให้ข้อมูลด้านความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน

ในโอกาสนี้ นายถาวรฯ กล่าวขอบคุณประเทศอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) สำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในโครงการและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบ APTCS ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศอาเซียนทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประมงและปศุสัตว์ของไทย ได้แก่ การสนับสนุนทุนฝึกอบรมจากจีนให้แก่ประเทศไทยผ่านหน่วยงาน Freshwater Fisheries Research Center เป็นประจำทุกปี การจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับโรคสัตว์ข้ามพรมแดน การสนับสนุนงบประมาณจากญี่ปุ่นให้แก่ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ผ่านกองทุน Japanese Trust Fund (JTF) เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรอาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-รัสเซีย โดยประเทศไทยยินดีและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอินเดียและรัสเซีย ต่อไป

ตกลง