1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ตราสัญลักษณ์ 132 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปลัดเกษตรฯ ร่วมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม
13 ก.ย. 2567
374
0
ปลัดเกษตรฯร่วมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม
ปลัดเกษตรฯ ร่วมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม

       นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นต้น เข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม เนื่องจากในช่วงเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยแล้วหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “ยางิ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง

        ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า หลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำ กรมชลประทานได้จำลองสถานการณ์น้ำในกรณีที่มีฝนตกตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ จึงได้เร่งพร่องน้ำในอ่างฯ เพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ควบคู่ไปกับการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายน้ำ รวมถึงได้เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

        ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 9 - 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำอิง แม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำจัน เข้าท่วมพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เมืองเชียงราย อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล และ อ.เทิง กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงราย ได้เร่งระบายน้ำลงสู่คลองระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขง ลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันกำจัดเศษกิ่งไม้และวัชพืชที่ลอยมาตามน้ำออกจากทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิม พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ไว้รองรับสถานการณ์หลังระดับน้ำเริ่มลดลงด้วย ปัจจุบันสถานการณ์ที่ อ.แม่สาย ระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว

        ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่แล้ว ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ลำน้ำสาขาระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วทั้งหมด ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวได้ไหลลงสู่แม่น้ำกกและออกสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ นอกจากนี้ กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำจากปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาอีกอย่างใกล้ชิด โดยในเบื้องต้น กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ให้การช่วยเหลือโดยได้แจกถุงยังชีพและน้ำดื่ม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำที่ค้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ กำจัดดินโคลนและขยะที่ติดค้างตามชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนล้างทำความสะอาดบ้านเรือน คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำปาย ส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตรในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 600 ไร่ โดยปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินต่อไป

        ขณะที่สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ได้ปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่ไหลลงมาสมทบ ซึ่งแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำด้วย ที่ปัจจุบันมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล

        ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านองคมนตรีจึงได้มาติดตามสถานการณ์น้ำว่ากระทรวงเกษตรฯ มีแผนในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างไร และอยากดูการคาดการณ์ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว พร้อมให้คำแนะนำแนวทางแก่กระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน ในการวางแผนระยะสำหรับการป้องกันปัญหาอุทกภัยรวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังได้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการทันที โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานดูแลในเรื่องของประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำให้มีความเข้มแข็ง จะได้ไม่เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น อีกทั้งกรมชลประทานได้มีการรายงานแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวทั้งในภาพรวมของประเทศและการจัดทำคลองระบายน้ำเลี่ยงตัวเมืองเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและราชการส่วนท้องถิ่น ในการเร่งอพยพพี่น้องประชาชน การตั้งศูนย์พักพิง รวมถึงศึกษาแนวทางในการเยียวยาทรัพย์สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องกังวลและพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ และในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งอพยพสัตว์ และจัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อเข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง