กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (25 ก.ย.67)ว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกกระจายตัวทั่วพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่ อาทิ
ที่จังหวัดเชียงใหม่ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางตอนบนของลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสาขาและแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน(25 ก.ย.67) ที่สถานีวัดระดับน้ำ P.1 (สะพานนวรัฐ)อำเภอเมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำสูงกว่าระดับวิกฤติ ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปิงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในขณะที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทางตอนบนของลุ่มน้ำ อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงมาสมทบเพิ่มเติมได้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำวัง ที่จังหวัดลำปาง ปริมาณน้ำจากฝนที่ตกชุกต่อเนื่อง ส่งผลให้เขื่อนนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำเต็มความจุเก็บกัก กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนกิ่วคอหมาในอัตรา 255 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนที่ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนกิ่วลม ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรับน้ำเหนือด้วยเช่นกัน ในอัตรา 322 ลบ.ม. ต่อวินาที คาดว่าจะส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบริมแม่น้ำวัง บริเวณหมู่ 1 บ้านบุญนาคพัฒนา ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมืองลำปาง รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลนครลำปาง บริเวณถนนเลียบแม่น้ำวังด้านล่างทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่บริเวณสะพานเสตุวารี ถนนท่านางลอย ถนนป่าไม้ ถนนเจริญประเทศ ถนนปงสนุก ถนนตลาดเก่า ถนนทิพย์ช้าง และถนนบ้านดงไชยบางส่วน มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 70-85 เซนติเมตร ทั้งนี้ แม่น้ำวังจากจังหวัดลำปาง ได้ส่งผลต่อเนื่องให้แม่น้ำวัง ที่จังหวัดตาก เพิ่มสูงขึ้นจนกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา จ.ตาก กรมชลประทาน ได้นำเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ รถเทเลอร์ รถขุด เครื่องสูบน้ำ เข้าแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมกับประสานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ลุ่มน้ำยม บริเวณจังหวัดแพร่ ฝนที่ตกหนักสะสมทางตอนบนของลุ่มน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำยมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่บริเวณอำเภอสอง อำเภอเมือง และอำเภอวังชิ้น ก่อนที่มวลน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัยตามลำดับ ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ Y.33 อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 749 ลบ.ม. ต่อวินาที มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนบางแห่ง กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำบางส่วนลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า ก่อนจะนำไปเก็บไว้ในพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ ซึ่งขณะนี้รับน้ำไปแล้วกว่า 271 ล้าน ลบ.ม. (67%) ยังสามารถรับน้ำได้อีกเกือบ 200 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่เหลือ จะไหลไปรวมกันลง สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,766 ลบ.ม. ต่อวินาที ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตามศักยภาพของคลอง พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,333 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าการะบายน้ำเพิ่มในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด , ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ. พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี ที่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร ยังอยู่ในสภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้ทำการแขวนบานประตูระบายน้ำในแม่น้ำชี เพื่อพร่องน้ำในลำน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ ส่วนที่ลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่บริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ยังอยู่ในสภาวะปกติ โดยที่สถานีวัดน้ำ M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,795 ลบ.ม. ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้เสริมกำแพงปิดช่องว่างริมตลิ่ง เพื่อเพิ่มความจุในลำน้ำจากเดิม 2,300 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ช่วยรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้พร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนาให้มากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมแขวนบานประตูระบายน้ำที่เขื่อนปากมูล เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุดด้วย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25 – 30 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ย 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม จึงขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน