นายอัษฎางค์ สีหาราช
17 เม.ย. 2567
989
0
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2567
นายอัษฎางค์ สีหาราช
นายอัษฎางค์ สีหาราช

สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

นายอัษฎางค์ สีหาราช

อายุ                        60 ปี

การศึกษา                  ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิทยาลัยครูมหาสารคาม

สถานภาพ                 สมรส

ที่อยู่                        บ้านเลขที่ 60/2 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย

จังหวัดอุตรดิตถ์ 53120

โทรศัพท์                   08-1727-2166

อาชีพ                      เกษตรกร

คุณลักษณะส่วนบุคคล

          นายอัษฎางค์ สีหาราช เกษตรกรวัย 60 ปี เมื่อปี 2540 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ต้องเลิกอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงเดินทางมาอยู่ที่บ้านของภรรยา ด้วยวิกฤตปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพ และมีหนี้สินที่ติดตัวมา จึงเริ่มเรียนรู้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่พร้อมองค์ความรู้จากการฝึกอบรมในเรื่องเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานต่าง ๆ จึงนำมาปรับใช้ในการทำนาของตัวเอง จนพบว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง และปริมาณผลผลิตไม่ได้แตกต่างจากเดิม จึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้แก่เกษตรกรและผู้ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน   โดยมีกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่จำนวน 60 ไร่ เช่น ปลูกข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) จำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวปลอดภัย (GAP) จำนวน 20 ไร่ ปลูกข้าวเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 20 ไร่ เลี้ยงสัตว์      เลี้ยงปลา ปลูกไม้ยืนต้น และการจัดพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี       ผ่านการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานศูนย์เรียนรู้ต่างๆ และเป็นต้นแบบนักปฏิบัติในการประกอบอาชีพ        ในชุมชน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง ไม่ย่อท้อในการพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ เป็นผู้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกและเครือข่าย มีความเสียสละ มีน้ำใจ ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เป็นต้น

ผลงานสร้างคุณประโยชน์

          เป็นเกษตรกรต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีจุดเด่นด้านการผลิตข้าว การสีข้าว การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ และการตลาดออนไลน์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว เช่น OTOP GAP Organic Thailand และ มาตรฐาน อย. ด้านการลดต้นทุน มีกิจกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้เอง การใช้สารชีวภัณฑ์ การผลิตปุ๋ยใช้เอง การใช้เครื่องจักรกล   การลด การใช้พลังงาน การลดการใช้สารเคมี การคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิด ประโยชน์มากที่สุด และการวางแผน การผลิตที่ดีจากเดิมต้นทุนการผลิต 5,000 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 4,000 บาทต่อไร่ คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงทั้งสิ้น 1,000 บาทต่อไร่ ด้านการเพิ่มผลผลิต ยึดหลักการทำเกษตรปลอดภัยคำนึง 3 ด้าน ได้แก่ คำนึงถึงผู้ผลิตต้องปลอดภัย คำนึงถึงผู้บริโภคต้องปลอดภัย และระบบนิเวศต้องดี      โดยเน้นการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพจากเดิมผลิตข้าวจำนวน 750 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 800 กก.ต่อไร่ และเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ไม่เผาเศษซากวัสดุทางการเกษตร ด้วยการใช้เครื่องอัดฟาง สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการอัดฟางขาย ไร่ละ 50 - 80 บาท จึงประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียในการเผา และขยายผลไปยังกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากการรณรงค์หยุดเผา จึงทำให้        ข้อมูลการเกิดค่าความร้อน (Hotspot) ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2564 ทำให้อำเภอพิชัยสามารถลดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่เกษตรกรรมได้ถึง 213 จุด คิดเป็นร้อยละ 79.76

ในปี พ.ศ. 2544 เป็นผู้นำในการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งต่อมาในปี  พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ ในปี พ.ศ. 2548     โดยยึดหลัก “ทำทุกอย่างที่ทำได้ ลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”    กิจกรรมหลักของกลุ่มฯ คือการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวเปลือกคุณภาพ ทำการผลิตข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปเพิ่มมูลค่าและยกระดับข้าวให้มีคุณภาพและปลอดภัย ภายใต้ชื่อข้าวอินทรีย์ตรา “เพชรคอรุม”และแปรรูปข้าวจำหน่าย ภายใต้ชื่อ “เพชรพิชัย” ที่มาจากคำว่า ถิ่นนักรบผู้กล้า พ่อพระยาพิชัย แหล่งปลูกข้าวปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค โดยออกบูธจำหน่ายสินค้าร่วมกับหน่วยงานและห้างสรรพสินค้า และจำหน่ายผ่าน    ช่องทาง Online ผ่าน Page Facebook ชื่อ “ข้าวอินทรีย์เพชรคอรุม” โดยในปี 2565 มีปริมาณผลผลิต   ในนามวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ตำบลคอรุมรวม 1,200 ตันต่อปี รวมรายรับสุทธิจากสินค้าทั้งหมด 7,800,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ศูนย์ข้าวชุมชนยังทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยเป็นการผลิตเพื่อใช้    ในกลุ่ม และเป็นการผลิตเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเครือข่าย

เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประชาชนในชุมชน สร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน และความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน มีสมาชิกทั้งหมด จำนวน 3,677 คน กองทุนสะสมรวม 18,760,715.48บาท คงเหลือ 4,180,699.48 บาท โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้แก่สมาชิกตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนมาจนถึงปัจจุบัน ไปแล้วจำนวน 13,883,300 บาท

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ (พ.ศ.2558 - 2565) ได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านข้าวของประเทศ โดยเน้นให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เกษตรกร    มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวในราคาที่ดีขึ้น และผลักดันโครงการตามนโยบายของรัฐบาลสู่เกษตรกร เช่น โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 โดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 58,700 ตัน ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 205,965 ครัวเรือน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้ง          ยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาใช้เพาะปลูกได้ถึง 3.91 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวคุณภาพดี 2.60 ล้านตันข้าวเปลือก โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ราคาถูกจากตันละ 20,000 บาท เหลือตันละ 4,000 บาท และสามารถลดต้นทุนในการทำนาจากไร่ละ 5,500 บาท ต่อไร่ เหลือไม่เกิน 4,000 บาท ต่อไร่

การขยายผลงาน

          นายอัษฎางค์  สีหาราช ถ่ายทอดผลงานอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอพิชัย ศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ และศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.บ้านม่วงตาล โดยเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกร บุคคลทั่วไป สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉลี่ย 3,000 คน ต่อปี และมีเครือข่าย           ในการขยายผลงานในระดับชุมชน ภูมิภาค และระดับประเทศ เช่น เครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ 6,559 ศูนย์ เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ และเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับประเทศ มีจำนวน 9,961 แปลง ในการขับเคลื่อนแนวปฏิบัตินโยบายด้านการเกษตรและด้านข้าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ชุมชนและเครือข่ายเกิดความเข้มแข็ง ความสามัคคี ความร่วมมือกันในการช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนในการทำงานร่วมกัน เพื่อความมั่นคง   มั่งคั่ง และยั่งยืน

ตกลง