รมช. อรรถกรฯ เป็นประธานพิธีเปิดงาน AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024 ยกระดับองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเกษตรกร
23 พ.ค. 2567
72
0
รมช.อรรถกรฯเป็นประธานพิธีเปิดงาน
รมช. อรรถกรฯ เป็นประธานพิธีเปิดงาน AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024 ยกระดับองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเกษตรกร

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024 ภายใต้หัวข้อ “เครือข่ายนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Innovation Networks)" ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงาน DLG – German Agricultural Society และบริษัท VNU เอเขียแปซิฟิก ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายภูผา ลิกค์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ ดร.แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ดร. คาทาริน่า รีนทร์ Vice President and Chairwoman, DLG – German Agricultural Society นายอิกอร์ เพาก้า Managing Director และนางสาวปนัดดา ก๋งม้า รองประธานฝ่ายธุรกิจบริษัท VNU เอเขียแปซิฟิก จำกัด คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เข้าร่วมในช่วงพิธีเปิดงาน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร กล่าวว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกรในระบบการผลิตที่เป็นมิตร อย่างยั่งยืน และมีการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้รับความร่วมมือและความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงนวัตกรรมด้านการเกษตรกว่า 300 รายจาก 28 ประเทศ ที่นำนวัตกรรมการเกษตร เครื่องจักรและนวัตกรรมพืชสวนที่หลากหลายจากนานาชาติมาจัดแสดง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการรับมือต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ 1) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร โดยส่งเสริมการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และ Carbon Credit เพื่อนำไปสู่การเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การลดการเผาซังข้าว ตอซัง เป็นต้น 2) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ด้วยการพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตรซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน 3) การยกระดับสินค้าเกษตรด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาเสริมศักยภาพของเกษตรกร เพื่อส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร โดยเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มีเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มุ่งเน้นหลักการปฏิบัติที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปรับปรุงระบบอาหาร กิจกรรมนี้นับเป็นเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกในการมีส่วนร่วม แบ่งปันองค์ความรู้ และส่งเสริมความร่วมมือที่จะกำหนดอนาคตของการเกษตร ซึ่งจุดเด่นของงาน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนวัตกรรมและเวทีเสวนาแล้ว ยังประกอบไปด้วยการเจรจาธุรกิจ ที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า การถ่ายทอดองค์ความรู้จากความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรไทยกว่า 1,000 ราย ได้รับข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากทั่วโลกผ่านไกด์นำชมงาน เพื่อลดช่องว่างทางการสื่อสารและส่งเสริมการเจรจาธุรกิจ อีกด้วย

ตกลง