รมว.ธรรมนัส มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับภาคเกษตรไทยในต่างแดน
28 มิ.ย. 2567
127
0
รมว.ธรรมนัส มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับภาคเกษตรไทยในต่างแดน
รมว.ธรรมนัสมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ
รมว.ธรรมนัส มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับภาคเกษตรไทยในต่างแดน

รมว.ธรรมนัส มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับภาคเกษตรไทยในต่างแดน

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศร่วมกับหัวหน้าสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ พร้อมด้วย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวไปรยา เศวตจินดา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบวีดิทัศน์

การประชุมวันนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตรต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานด่านหน้าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา ณ ด่านนำเข้า การแจ้งเตือนกฎระเบียบและมาตรการการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร และการจัดกิจกรรม/นิทรรศการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรไทย รวมทั้งการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหน่วยงานในประเทศที่ตั้งของสำนักงานฯ และกับประเทศอื่นที่อยู่ในประเทศที่ตั้งนั้น ๆ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มีการติดตามการดำเนินงานภาคการเกษตรในต่างประเทศ โดยหัวหน้าสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศได้รายงานสถานการณ์การค้าสินค้าภาคการเกษตร อีกทั้งติดตามการรายงานถึงความท้าทายของสินค้าเกษตรไทยที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 11 แห่ง ใน 8 ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนครลอสแอนเจลิส 2) สาธารณรัฐอิตาลี กรุงโรม 3) ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม กรุงบรัสเซลส์ 4) ประเทศญี่ปุ่น กรุงโตเกียว 5) สาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว และนครเซี่ยงไฮ้ 6) เครือรัฐออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร์รา 7) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา และ 8) สหพันธรัฐรัสเซีย กรุงมอสโก นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความคืบหน้าถึงประเด็นการเปิดตลาดสินค้าด้านเกษตรของไทยในต่างประเทศ อีกด้วย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า บทบาทของการเกษตรต่างประเทศ ไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าการเกษตรภายในประเทศ แต่ทั้งสองบทบาทนี้มีความเชื่อมโยงกัน และจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยการผลิตสินค้าภายในประเทศจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด (ตลาดนำ) และเป็นไปตามค่านิยมของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการด้านความยั่งยืน ซึ่งภาคการเกษตรไทยจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (นวัตกรรมเสริม) เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทุ่นแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร (เพิ่มรายได้) โดยสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่หัวหน้าสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศได้ดำเนินการอยู่แล้ว

ทั้งนี้ รมว. กษ. มีแผนงานจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมทั้งการเจรจาอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร แสวงหาความร่วมมือเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการเกษตรและช่องทางใหม่ ๆ สำหรับเกษตรกรในการเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศเป้าหมายของไทยอีกด้วย

ตกลง