เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือร่วมกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Han Zhiqiang) โดยมี นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวไปรยา เศวตจินดา ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ นายภูริพันธ์ โสภาเสถียรพงศ์ หัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออก-เอเชียใต้ และวันออกกลาง และนายชเนศร์ มงคลรักเจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักการเกษตรต่างประเทศ เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการเกษตร และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ที่จะครบรอบ 50 ปี ในปี 2568
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า การหารือวันนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยมีนโยบายในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้มีความอยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ขยายตลาดสินค้าเกษตรที่มีอยู่เดิมและเพิ่มตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้แนวทาง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางรถไฟไทย – ลาว - จีน รวมทั้ง การเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยของจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้าเกษตร ทำให้ไทยสามารถมีช่องทางส่งผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงขอให้จีนช่วยผลักดันสินค้าเกษตรไทยที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ในการส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือทางวิชาการ และฝ่ายจีนพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางวิชาการให้กับฝ่ายไทยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ผลักดันการลงนามในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปประเทศจีน และติดตามความคืบหน้าการเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น โคมีชีวิต สินค้าพืช และประมง
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นฤมล มีกำหนดการเดินทางไปยังนครคุณหมิง (Kunming) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 (GMS Agricultural Ministers’ Meeting) ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน 2567 จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการและการค้า และอาจเป็นโอกาสในการลงนามในพิธีสารดังกล่าว ซึ่งฝ่ายจีนตอบรับที่จะสนับสนุนให้มีการลงนามต่อไป
ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย ในระหว่างปี 2564 - 2566 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 22.11 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 447,403 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 เป็นมูลค่า 499,166 ล้านบาท และ 543,962 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 496,844 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10.26 ต่อปี สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ทุเรียนสด 2) มันสำปะหลังฝานหรือทำเป็นเพลเลต 3) สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง 4) ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค และ 5) ผลไม้และลูกนัตอื่น ๆ