“รมว.นฤมล” เผย ก.เกษตรฯ จับมือ “หัวเว่ย” ใช้เทคโนโลยี Digital Power นำพลังงานทางเลือกไปใช้ลดต้นทุนการผลิตเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
1 พ.ย. 2567
75
0
“รมว.นฤมล”เผยก.เกษตรฯจับมือ“หัวเว่ย”
“รมว.นฤมล” เผย ก.เกษตรฯ จับมือ “หัวเว่ย” ใช้เทคโนโลยี Digital Power นำพลังงานทางเลือกไปใช้ลดต้นทุนการผลิตเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรเทพ ศรีธนาธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภูริพันธ์ โสภาเสถียรพงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นายชเนศร์ มงคลรักเจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นางศรีปภาดา นิธิสุวโชค นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักการเกษตรต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเพื่อหารือความร่วมมือด้านการเกษตร พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองฝ่าย

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ขยายตลาดสินค้าเกษตรที่มีอยู่เดิมและเพิ่มตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทาง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายซื้อสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางและสามารถวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร

โดยบริษัทหัวเว่ย ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด และให้การแปลงพลังงานเป็นระบบดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนพลังงานเพื่ออนาคตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอแนวทางความร่วมของบริษัทฯ ในการพัฒนาภาคการเกษตร พร้อมเสนอแนวทางการสร้างตลาด สร้างงาน เพิ่มรายได้ โดยเทคโนโลยี 1. Digital Power เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถนำพลังงานทางเลือกไปใช้ลดต้นทุนการผลิตการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อลงทุน 2. Digital Connectivity เพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายพื้นที่ห่างไกลกสทช. ศูนย์พิรุณราชรวมถึงการบริการเครือข่ายไร้สายในบางพื้นที่ของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ 3. Digital Platform เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการขายสินค้าเกษตรรวมถึงนำเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ใน 3 กลยุทธ์ 1) Agriculture Learning Hub (สร้างคนสร้างทักษะยกระดับองค์ความรู้ทั้งระบบ) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อเกษตรยุคใหม่ 2) Digital Farm & Market (สร้างตลาดสร้างงานเพิ่มช่องทางสร้างรายได้) เพื่อสร้างตลาดและฟาร์มดิจิทัล 3) Ecosystem & Connected All (สร้างการบูรณาการปลูกขายออมเพิ่มความมั่งคั่ง) เพื่อเชื่อมต่อระบบเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้เกษตรกร

“ดิฉันได้กล่าวขอบคุณบริษัทหัวเว่ย ที่มีความมุ่งมั่นในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรไทย ในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้ง ทักษะที่จำเป็นในการทำเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทย ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ ตลอดจนผลักดันความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในอนาคต” ศ.ดร.นฤมลกล่าว

ตกลง