ผู้ตรวจเกษตรฯ วุฒิพงศ์ นำผู้อำนวยการใหญ่ FAO เยี่ยมชม“การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย “ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง
11 ธ.ค. 2567
32
0
ผู้ตรวจเกษตรฯวุฒิพงศ์นำผู้อำนวยการใหญ่
ผู้ตรวจเกษตรฯ วุฒิพงศ์ นำผู้อำนวยการใหญ่ FAO เยี่ยมชม“การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย “ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง

ผู้ตรวจเกษตรฯ วุฒิพงศ์ นำผู้อำนวยการใหญ่ FAO เยี่ยมชม“การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย “ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง

เมื่อวันที่ 10 - 11 ธันวาคม 2567 ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม) ผู้ตรวจราชการ เขต 5 พร้อมด้วยนายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับและนำ ดร.ฉู ตง หยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และคณะ เข้าเยี่ยมชม “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” โดยมี นายกฤษณ์ หาญสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ นางสาวณัชชา เหลืองเอี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักการเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วม ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ซึ่ง FAO ได้ประกาศรับรองให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นมรดกทางการเกษตรโลก หรือ จีแอส เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 โดยเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ดร. ฉู และคณะ ได้ร่วมล่องเรือชมวิถีการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองและพรรณพืชที่หายากและใกล้สูญพันธ์ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในระดับโลก (แรมซ่าร์ไซต์) ในปี พ.ศ. 2541 โดยลักษณะของควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีความโดดเด่นในการปรับตัวและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายจะมีการปรับตัวสามารถดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำ มีบทบาทสำคัญทำหน้าที่เป็นวิศวกรในระบบนิเวศ ควบคุมและสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศในทะเลน้อย โดยพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยไม่เพียงมีการเลี้ยงปศุสัตว์ (ควายน้ำ) แต่ยังมีการทำประมงพื้นบ้าน (ยอยักษ์) การปลูกข้าวนาริมเล อีกด้วย

นอกจากนี้ จัวหวัดพัทลุงได้จัดเตรียมการแสดงรำมโนราห์เพื่อต้อนรับ ดร. ฉู ซึ่ง มโนราห์ ได้รับการรับรองจากองค์การ UNESCO ให้เป็นระบบมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เมื่อปี พ.ศ .2564 โดยมโนราห์มีความเชื่อมโยงกับทางความเชื่อและจิตวิญญาณเกี่ยวกับควาย โดยส่วนประกอบของชุดการเครื่องแต่งกายคล้ายกับเขาควาย ในขณะเดียวกัน ได้จัดเตรียมอาหารพื้นบ้านต้อนรับโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้จากทะเลน้อย เช่น ข้าวสังข์หยด ปลาดุกร้า สาคูต้น ปลาลูกเบ้ เป็นต้น และได้พาคณะเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับควายปลักทะเลน้อย และการสาธิตการทำหัตถกรรมจักรสานจากกระจูด และทำแป้งจากต้นสาคู

ดร. เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ เลขาธิการพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานในพื้นที่ภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก ทางจังหวัดพัทลุงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 2 ปี ที่ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่จีแอส ภายใต้กิจกรรม “3 มรดกโลก (3 World Heritage Festival)” โดยจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดเดียวที่มี 3 มรดกโลก ได้แก่ ระบบมรดกทางการเกษตรโลกจาก FAO “วิถีการเลี้ยงควายปลัก” มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจาก UNESCO “โนรา” และพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก
(แรมซาร์ไซต์) กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนทะเลน้อย โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมและองค์ความรู้ที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ ประสงค์ขอรับการสนับสนุนจาก FAO ในด้านการจัดทำระบบตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย
ผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และความร่วมมือทางวิชาการต่อไป ทั้งนี้ได้รายงานถึงความท้าทายของพื้นที่
ชุ่มน้ำทะเลน้อย ปัจจุบันพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ที่ดิน โดยพบมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นทึ่ชุ่มน้ำทะเลน้อยในพื้นที่ป่าพรุ นอกจากนี้การขยายตัวต่อพืชรุกรานต่างถิ่นอย่างจอกหูหนูยักษ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของควายและระบบนิเวศ

ดร. ฉู ได้กล่าวว่า ระบบมรดกทางการเกษตรโลกมีความแตกต่างจากมรดกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO โดยเน้นให้ความสำคัญกับมิติต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการทำการเกษตร โดยระบบมรดกทางการเกษตรโลก เป็นเครื่องยืนยันว่าการเกษตรไม่ใช่แค่การผลิตอาหารเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาและพัฒนาชุมชนและพื้นที่เพื่อต่อสู้กับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยในปี 2568 FAO จะเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี FAO ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะแนะนำความสำเร็จของระบบมรดกทางการเกษตรโลก การสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตร ทั้งนี้ FAO ได้ริเริ่มการดำเนินงานเรื่องจีแอสมา 20 ปี แต่ยังมีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพียงไม่กี่ประเทศ โดยมีทั้งหมด 79 พื้นที่จาก 22 ประเทศ จึงอยากให้ประเทศไทยขยายการขึ้นทะเบียนจีแอสในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยให้จังหวัดพัทลุงเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้แก่ภูมิภาคอื่นๆ

ดร. ฉู ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของประเทศไทย และขอให้ผลักดันการดำเนินงานต่อไป รวมถึงแนะนำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก Hani Rice Terraces ในมณฑลยูนนาน ซึ่งมี
ความคล้ายคลึงกับมรดกทางการเกษตรโลกของประเทศไทย นอกจากนี้ ดร. ฉู ได้เน้นย้ำการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญ โดยช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมของทะเลน้อย พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการอนุรักษ์และสร้างรายได้ รวมถึงได้กล่าวถึงจุดเด่นของประเทศไทยในด้านวัฒนธรรมอาหารที่โดดเด่น ซึ่งเป็นผลจากการอนุรักษ์และความหลากหลายทางชีวภาพ

สุดท้ายนี้ ได้เน้นย้ำบทบาทของรัฐบาลในท้องถิ่นในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านระบบมรดกทางการเกษตรโลกให้มีความยั่งยืน และการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป

ตกลง