รองปลัด กษ พร้อมผู้บริหาร กษ เยี่ยมชมตลาดเกาเป่ยเตี้ยน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ศึกษาดูงานและหารือนายเว้ยซูเจียน เลขาธิพรรคคอมมิวนิสต์และประธานกลุ่มบริษัทโซ่วเหิง และนายหมี่ย่าหลิน ประธานตลาดเกาเป่ยเตี้ยน ณ ตลาดเกาเป่ยเตี้ย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย
ตลาดแห่งนี้ดำเนินการโดยบริษัทโซ่วเหิง (Sunhula Group) ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากรัฐบาล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9,500 เอเคอร์ หรือประมาณ 24,000 ไร่ แบ่งเป็นโซน ผักผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และสินค้าแช่แข็ง โดยเป็นศูนย์กลางการค้าส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญในภาคเหนือของจีน เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ใน 5 มณฑลของจีน มีทั้งสินค้าเกษตรในประเทศและนำเข้ากว่า 60 ประเทศทั่วโลก ในปี 2024 ตลาดมีปริมาณการนำเข้าผักและผลไม้ 19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านหยวน และมีการนำเข้าทุเรียนไทย มากกว่า 5 แสนตันต่อปี รวมถึงมีการนำเข้าลำไยและมังคุดจากไทยผ่านเส้นทางการขนส่งทางบกเป็นหลัก ผ่านทางด่านโม่หาน มณฑลยูนาน และด่านผิงเสียง เขตกว่างซีจ้วง และมะพร้าวอ่อนขนส่งทางเรือไปยังท่าเรือเซินเจิ้น โดยใช้เวลา 5 วัน จากไทยถึงตลาดเกาเป่ยเตี้ยน ซึ่งการนำเข้าทุเรียนของบริษัทฯ จะพิจารณาจากต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากเก็บรักษาได้ไม่นาน ส่วนลำไย และมะพร้าวอ่อนจะพิจารณาจากต้นทุนเป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนเปิดตลาดที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตก และเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนานิคมโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอัจฉริยะที่มีศักยภาพสูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ และสามารถเก็บรักษาสินค้าได้มากกว่า 5 แสนตัน ครอบคลุมสินค้าหลากหลายกว่า 3,000 รายการ เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ และอาหารทะเล ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของประชากรประมาณ 500 ล้านคนในพื้นที่ 13 แห่ง ทั้งระดับเขต เมือง และมณฑล โดยลดขั้นตอนในกระบวนการจัดส่ง ทำให้สามารถจัดส่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตตรงไปยังผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และต้องการสร้างความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการนำผลไม้ไทยไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น
ทั้งนี้ สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะทุเรียนยังเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดจีน โดยคณะผู้บริหารได้เน้นย้ำถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรของไทย และความพร้อมที่จะส่งสินค้าเกษตรมายังจีนอย่างต่อเนื่อง