สมุนไพร
16 ม.ค. 2566
949
0
สมุนไพร
สมุนไพร

ว่า “สมุนไพร” หมายความว่า ยาที่ได้มาจากพืช สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ ประเภทของสมุนไพร สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา เช่น เกลือ กำมะถัน น้ำประสานทอง ดีเกลือ สารส้ม

การจำแนกรูปแบบของสมุนไพรที่ใช้เป็นยา
สมุนไพรไม่ว่าจะเป็นส่วนที่มาจากพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือธาตุวัตถุก็ตาม เวลาจะนำมาใช้เพื่อบริโภค หรือเพื่อการรักษาตามกรรมวิธีจำเพาะอันใดก็ตาม พอจะจำแนกรูปแบบของสมุนไพรที่ใช้เป็นยาได้ดังนี้คือ 

1. รูปแบบที่เป็นของเหลว ยาเหล่านี้มักได้จากกรรมวิธีต่างๆ กันเช่น ยาต้มคือหั่นต้นยาแล้วต้มกับน้ำ ยาชงเป็นยาแห้งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คั่วแล้วนำไปชงกับน้ำ น้ำคั้นสมุนไพรเตรียมโดยการเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียด เติมน้ำแล้วคั้นเอาน้ำยามารับประทาน และยาดองเตรียมโดยบดสมุนไพรให้แห้งห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองในสุรา 

2. รูปแบบที่เป็นของแข็ง ยาปั้นลูกกลอน เตรียมโดยหั่นต้นไม้ยาสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง 

3. รูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว สมุนไพรเหล่านี้จะทำให้อยู่ในลักษณะพอทรงตัวได้ มักใช้เพื่อการรักษาภายนอก เช่น ยาพอก เตรียมโดยใช้ต้นสดตำให้แหลกหรือเหลว 

4. รูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะการใช้พิเศษ เช่นใช้วิธีรมควัน เพื่อรักษาโรคของทางเดินหายใจ หรือการรมควันเพื่อรักษาแผล และให้มดลูกเข้าอู่ในสตรีภายหลังคลอด

ความเป็นมาและความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพร
ความเชื่อและการใช้สมุนไพรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรมีในตำราแพทย์ตั้งแต่สมัยกรีก อินเดีย จีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพทย์ไทยแผนโบราณ นอกจากนี้ก็มีการศึกษาค้นคว้าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ของสมุนไพร ในปัจจุบันยาต่างๆ ที่ใช้กันอยู่มีจำนวนไม่น้อยที่ได้มาจากสมุนไพรโดยตรง เช่น ยาแก้ปวด aspirin มาจากเปลือกไม้ของพืชชนิดหนึ่ง ยาแก้ปวด morphine ก็มาจากต้นฝิ่น ยาควินินรักษาโรคมาลาเรียก็ได้มาจากการสกัดเปลือกไม้ cinchona ยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว digitalis ก็ได้มาจากต้น foxglove เป็นต้น

ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี วุ้นในใบมีสารเคมีหลายชนิด วุ้นในใบมีคุณสมบัติรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย นิยมใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาแผลเรื้อรัง และแผลในกระเพาะอาหาร 

มะขามแขก ใช้เป็นยาระบาย สารประกอบทางเคมีที่สำคัญในใบและฝักมะขามแขกมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายท้อง ที่จริงฝรั่งเองก็รู้จักยาตัวนี้และผลิตออกขายเป็นยาระบายคือ senokot 

กระเทียม เป็นสมุนไพรที่ใช้ปรุงอาหารที่มีใช้กันแพร่หลาย นอกจากจะมีคุณสมบัติทางการปรุงรสและกลิ่นอาหารแล้ว กระเทียมยังมีส่วนของน้ำระเหยซึ่งมีฤทธิ์ในการลดปริมาณไขมันในเลือด ในคนไข้ที่มี cholesterol สูง และอาจช่วยลดความดันโลหิตสูงด้วย

โทษและอันตรายจากการใช้ยาสมุนไพร
สมุนไพรนอกจากจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็อาจมีโทษและอันตรายได้เช่นกัน อันตรายจากสมุนไพรนั้นอาจแยกออกเป็น 3 ประการคือ 

ประการที่หนึ่ง อันตรายที่เกิดจากโรคที่ขาดการรักษาเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหืด ซึ่งการแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การให้ยานั้นเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ถูกต้องอาจจะเบื่อก็เลยหยุดยา แล้วรักษาด้วยสมุนไพร มียาสมุนไพรหลายชนิดที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค นอกจากนั้นโรคที่ท่านเป็นอยู่บางครั้งก็อาจจะไม่มีอาการเด่นชัด ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าโรคหายแล้วก็ละเลยกับการรักษาที่ถูกต้อง นานๆ ไปโรคเดิมอาจจะกำเริบเช่น เป็นความดันโลหิตสูงมากๆ ไม่ได้รักษาก็อาจจะทำให้เส้นเลือดแตกในสมองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ 

ประการที่สอง เป็นอันตรายที่เกิดจากฤทธิ์ของสมุนไพรโดยตรง มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรง ถ้าได้รับเข้าไปจะทำให้เกิดอาการจากพิษของสารชนิดนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น มะเกลือ (มะเกลือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง) เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าผลมะเกลือมีสารเคมีที่สำคัญหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการขับถ่ายพยาธิ์ ตำรับยากลางบ้านได้แนะนำให้ใช้ผลมะเกลือสดตำคั้นผสมกระทิ ได้มีรายงานผู้ป่วยหลายรายที่ได้รับพิษจากมะเกลือ ผู้ป่วยมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเดิน หลังจากนั้นจะมีอาการตามัว ตามองไม่เห็น ตาบอดได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผลมะเกลือที่แก่เต็มที่จนมีสีดำนั้น อาจจะมีสาร nepthalene ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทตาโดยตรง 

ยี่โถ เป็นไม้พุ่มประดับที่นิยมปลูกกันตามบ้านเรือน เคยมีผู้แนะนำให้เอาใบยี่โถต้มน้ำรับประทานเพื่อแก้โรคพิษสุราเรื้อรัง หลังจากรับประทานเข้าไปแล้ว คนไข้มีอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ และปวดท้อง ถ้ารับประทานมากพิษของสารเคมีในใบยี่โถจะกดการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และอาจจะหยุดได้ ดังนั้นจึงควรจะต้องระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งอาจจะรับประทานเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นอกจากนี้พืชอื่นๆ อีกหลายชนิดก็อาจจะมีพิษ เช่น ลำโพงมีพิษต่อระบบประสาทโดยตรง ถ้าได้รับเข้าไปมากคนไข้จะมีอาการตาพร่ามัว ปากแห้ง กระหายน้ำ ม่านตาขยาย ไม่สู้แสง ผิวหนังร้อนแดง ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นสับสน จิตประสาทหลอน และคลุ้มคลั่ง 

 

ประการที่สาม อันตรายจากสารเจือปนในสมุนไพร ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ยาสมุนไพร เพื่อจะหาสารเจือปนที่อาจจะเป็นอันตรายจากตัวอย่างจำนวนร่วมร้อย พบว่ามี arsenic 60% มีสาร steroids 30% นอกจากนั้นมีสารปรอทและตะกั่วประปราย 

Arsenic ในสมัยก่อนนิยมใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังเรื้อนกวาง และรักษาโรค syphilis ในปัจจุบันเลิกใช้เพราะเป็นยาอันตราย ในตำราแพทย์โบราณทั้งของไทยและจีนเชื่อว่า arsenic มีคุณสมบัติกระตุ้นให้กระชุ่มกระชวย แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับมากเกินไปก็อาจจะเกิดพิษของ arsenic ได้ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ต่อมาผู้ป่วยมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณปลายประสาทแปร๊บๆ แบบถูกไฟฟ้าช๊อต ระยะหลังจะมีผื่นตามตัวสีดำ ผิวหนังหนาขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับ arsenic อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากขึ้น เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด เป็นต้น 

สารปรอท ปรอทที่ผสมในสมุนไพร อาจจะทำให้เป็นพิษ โดยมีอาการปากเปื่อย เหงือกอักเสบ ฟันหลุด น้ำลายไหลมากผิดปกติ และไตวาย เป็นต้น 

Steroids มีคุณสมบัติบรรเทาอาการของโรคหลายชนิด จึงนิยมเจือปนในสมุนไพร ทำให้โรคบางอย่างดูเหมือนดีขึ้น เช่น โรคหืด โรคไขข้ออักเสบ แต่ถ้าใช้นานๆ จะมีอาการข้างเคียงและอันตรายอย่างมาก ผู้ป่วยมีหน้าบวมฉุ เป็นสิว ลำตัวอ้วนกลม ผิวหนังลายเป็นจ้ำเลือดได้ง่าย และกระดูกผุ เป็นต้น ถ้าใช้ติดต่อกันนานทำให้ติดยาและถ้าหยุดยาเฉียบพลัน อาจทำให้ช็อคได้

สารตะกั่ว พิษของสารตะกั่วเป็นที่รู้จักกันดี ตะกั่วเป็นพิษทำให้มีอาการปวดท้อง โลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากปลายประสาทผิดปกติ เป็นต้น

คำแนะนำในการใช้สมุนไพร
สมุนไพรเป็นดาบสองคม พึงระลึกเสมอว่าอะไรก็ตามที่มีประโยชน์มาก ก็อาจมีโทษได้เช่นกัน การใช้สมุนไพรควรจะต้องระมัดระวัง

หลักการในการใช้สมุนไพรคือ
1. ถ้าเป็นโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ผลดี ก็ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด โรคบาดทะยัก กระดูกหัก วัณโรค เบาหวาน เป็นต้น 2. กลุ่มอาการบางอย่างที่บ่งชี้ว่า อาจจะเป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องรักษาอย่างรีบด่วนเช่น ไข้สูง ซึม ไม่รู้สึกตัว ปวดอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือดจากช่องคลอด ท้องเดินอย่างรุนแรง หรือคนไข้เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ ควรรีบนำปรึกษาแพทย์ แทนที่จะรักษาด้วยสมุนไพร 3. การใช้ยาสมุนไพรนั้น ควรค้นคว้าจากตำรา หรือปรึกษาท่านผู้รู้ โดยใช้ให้ถูกต้อง ใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกขนาด ใช้ให้ถูกวิธี ใช้ให้ถูกโรค ใช้ให้ถูกคน 4. ไม่ควรใช้สมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะพิษอาจจะสะสมได้ เมื่อใช้ยาหลายสัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ 5. ถ้ามีอาการพิษที่เกิดขึ้นจากยาสมุนไพร ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ควรรีบหยุดยาโดยเร็ว

ตกลง