การลงพื้นที่ติดตามโครงการ ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
13 มี.ค. 2566
329
0
การลงพื้นที่ติดตามโครงการ ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
การลงพื้นที่ติดตามโครงการ
การลงพื้นที่ติดตามโครงการ ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย

วันที่ 13 – 14 มีนาคม 2566

คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการ ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย จำนวน 3  ประเด็น ประกอบด้วย

1. ประเด็นโครงการตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายของโครงการขนาดใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

- ทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุดรธานี โครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน     

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) ตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองเจริญ หมู่ที่ 7 ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีลักษณะโครงการเป็นทำนบดินและอาคารประกอบทำนบดิน กว้าง 8.00 เมตร ยาว 600.00 เมตร สูง 38.00 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกัก 6.36 ล้าน ลบ.ม. อาคารระบายน้ำล้น กว้าง 40.00 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 137.51 ลบ.ม./วินาที อาคารส่งน้ำฝั่งซ้าย Ø 1.20 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 10.74 ลบ.ม./วินาที ซึ่งการก่อสร้างโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตรและการอุปโภค – บริโภค เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลา เป็นแหล่งทำการประมง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนบริเวณพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง

2. ประเด็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 

- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาร้าข้ามปี ตำบลหนองสระปลา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาร้าข้ามปี เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2542 โดยมีนายอภิชาต ชาตรีเจริญ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้มีการปรึกษาหารือกับกลุ่มสมาชิกถึงการพัฒนากิจการของกลุ่ม เพื่อจะส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีแนวความคิดที่ว่า ถ้านำปลาสดมาแปรรูปก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ดังนั้น สมาชิกได้กลุ่มจึงได้มีมติเลือกที่จะทำโครงการถนอมอาหารจากปลาด้วยการทำปลาร้า โดยสมาชิกกลุ่มและชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวประมงในเขตบ้านหนองบัวน้อย บ้านหนองสระปลา บ้านโนนโพธิ์ศรี สามารถจับปลาน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจึงนำปลาที่จับได้มาหมักทำปลาร้า (ปลาแดก) เพื่อถนอมอาหารจากปลาไว้ใช้เป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งยังใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลาร้าด้วยการแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ได้แก่ แจ่วบองสูตรต่างๆ และน้ำปลาร้าปรุงรส เป็นต้น อันเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ บ้านโคกคำ (ลูกชิ้นเนื้อ) ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย  

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านโคกคำ เกิดจากนายสุนทร พานุรักษ์ เป็นผู้ที่ริเริ่มในการจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยเกิดจากความคิดที่จะทำการเลี้ยงโคแบบต้นน้ำ จึงได้ชักชวนเกษตรกรที่เลี้ยงวัวในพื้นที่มาร่วมจัดตั้งกลุ่ม เพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคแบบเก่ารุ่นปู่-ย่า-ตา-ยาย คือ การเลี้ยงแบบปล่อยกลางทุ่งมาเป็นการเลี้ยงแบบยืนโรง (แบบประณีต) เริ่มแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มเป็นจำนวน 10 คน และต่อมาจึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านโคกคำ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 และในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหนองคายให้เข้าร่วมโครงการ “โคเนื้อสร้างอาชีพ (ระยะที่ 2)” ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 20 ราย

3. สรุปลงพื้นที่ประเด็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าทางการเกษตรด้วยระบบรถไฟ

- การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย – ลาว – จีน ณ จังหวัดหนองคาย

1) ด่านตรวจพืชหนองคาย รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร มีบทบาทและหน้าที่ในการกักโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและสาธารณะรัฐประชาชนจีน

2) ด่านกักกันสัตว์หนองคาย รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ มีบทบาทและหน้าที่ในการตรวจวิการโรคระบาดสัตว์เบื้องต้น วิเคราะห์โรคระบาดสัตว์และเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตรวจสอบสถานที่กักสัตว์-ซากสัตว์ และลงพื้นที่ในการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคระบาดสัตว์และประชาสัมพันธ์

3) ด่านตรวจประมงเขต 2 หนองคาย รับผิดชอบโดยกรมประมง มีพื้นที่ในการรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี มีระยะทางตามแนวชายแดนประมาณ 954 กิโลเมตร และมีด่านตรวจประมง จำนวน 3 ด่าน ประกอบด้วย ด่านตรวจประมงนครพนม/บึงกาฬ ด่านตรวจประมงมุกดาหาร/อำนาจเจริญ และด่านตรวจประมงอุบลราชธานี

ตกลง