นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมปศุสัตว์ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการป้องกันตนเองและสัตว์เลี้ยงจากโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง ผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงพบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ณ วันที่ 24 กันยายน 2567 พบข้อมูลว่ามีการส่งตัวอย่างส่งตรวจสะสมปี 2567 จำนวน 4746 ตัวอย่าง ผลบวกสะสมจำนวน 226 ตัวอย่าง ชนิดสัตว์ที่เกิดโรค แบ่งเป็นสุนัข 194 โค 21 แมว 7 กระบือ 4 โดยมีพื้นที่ที่พบการเกิดโรค 11 จังหวัด 16 จุด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นครนายก อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร เชียงราย อุตรดิตถ์ พัทลุง และสงขลา
ปัจจุบันมีพื้นที่ควบคุมที่พบการเกิดโรค 17 จุด ประกอบด้วย จังหวัดศรีสะเกษ ชลบุรี บุรีรัมย์ เชียงราย นครนายก ระยอง ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ พัทลุง และสงขลา มีพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดโรค 80 จุด ประกอบด้วย อุบลราชธานี สงขลา ชลบุรี สุรินทร์ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ระยอง เลย ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม จันทบุรี สมุทรปราการ ตาก นครพนม นครราชสีมา มุกดาหาร สมุทรสงคราม ชัยภูมิ พิจิตร สุพรรณบุรี
สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 24 กันยายน 2567 ทั้งหมด 31 จังหวัด 213 จุด คือ ลพบุรี จันทบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ นครนายก อำนาจเจริญ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา เลย มหาสารคาม นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร เชียงราย ตาก อุตรดิตถ์ พิจิตร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งขณะนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เร่งรัดควบคุมโรคทุกจุดเกิดโรค โดยฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรค (ring vaccination) ร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคได้
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือ หากพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดได้ทุกพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมปศุสัตว์ เบอร์โทรศัพท์ 06 3225 6888 ตลอด 24 ชั่วโมง