ก.เกษตรฯ ขับเคลื่อนแผนการตรวจราชการฯ ประจำปี พ.ศ. 2568
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมนำเสนอรายละเอียดโครงการตามแผนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 134 - 135) โดยมีวัตถุประสงค์ ในการนำเสนอแผนงาน/โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความเชื่องโยงกับ 9 นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนนำไปจัดทำเป็นแนวทางการตรวจราชการตามแผนการตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำหรับแผนงาน/โครงการ และประเด็นการตรวจราชการ ตามนโยบาย 9 ข้อ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
นโยบายที่ 1 เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณ ได้แก่ ศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร (เน้นติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน) (สป.กษ.)
นโยบายที่ 2 เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ได้แก่ โครงการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นโยบายที่ 3 การบริหารจัดการน้ำ อาทิ โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เป็นต้น
นโยบายที่ 4 ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง อาทิ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ข้าวอินทรีย์,หม่อนไหม) โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้านการประมง โครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูง โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นต้น
นโยบายที่ 5 ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง อาทิ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร และโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และข้าว เป็นต้น
นโยบายที่ 6 จัดการทรัพยากรทางการเกษตร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะจาก PM2.5 อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และความสมดุลการจัดการทรัพยากรที่ดิน (LDN) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนและการจัดการเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการส่งเสริมเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นโยบายที่ 7 รับมือกับภัยธรรมชาติ วางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ (ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เขตเศรษฐกิจ) โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) โครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย และอุตรดิตถ์ เป็นต้น
นโยบายที่ 8 สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน ปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย สินค้าประมง ปศุสัตว์ พืช และยางพารา
นโยบายที่ 9 อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร การประกันภัยพืชผลการเกษตร การเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ