เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 20 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาทและ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงินงบประมาณ 585 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น60,085.01 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จัดทำรายละเอียดโครงการที่ 1 และ 2 และกรมการค้าภายในจัดทำรายละเอียดโครงการที่ 3 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จำนวน 4 คณะ ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต โดยมี รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน 2) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด โดยมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน 3) คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยมีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน และ 4) คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจัดหวัด เป็นประธาน
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทาง แผนงาน มาตรการแก้ไขและพัฒนาด้านผลิต ด้านตลาด การชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกของรัฐบาล และดูแลให้ทั่วถึงในระดับจังหวัด
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ปีการผลิต 2567/68 พื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยรอบที่ 1 นาปี มีพื้นที่เพาะปลูก 62.12 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.2 พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.29 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.03 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.05 ผลผลิตที่ได้ 27.04 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.21 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 1 และรอบที่ 2 นาปรัง มีผลผลิต 7.17 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.95 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 15 ในส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก ค่าความชื้นร้อยละ 15 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 บาท ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,050 บาท เพิ่มจากปีก่อน 500 บาท ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,550 บาท ลดลง 1,600 บาท ข้าวเหนียว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 200 บาท และราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 800 บาท ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,100 บาท เพิ่มจากปีก่อน 400 บาท ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7,400 บาท ลดลง 1,200 บาท ข้าวเหนียว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100 บาท ทั้งนี้ ในช่วงมกราคม - กันยายน 2567 อินเดียส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.84 ล้านตัน รองลงมาเป็นประเทศไทย ส่งออกประมาณ 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 จากปีก่อน เป็นปัจจัยเชิงบวกจากตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มนำเข้าข้าวมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ