ปัจจุบัน (27 พ.ย. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,405 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1,997 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,993 ล้าน ลบ.ม. (88% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 15,297 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง มีการปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบน ช่วยลดภาระด้านท้ายน้ำ และยังช่วยให้การระบายน้ำที่ค้างอยู่ในทุ่งจากช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ทำได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ไป Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี และทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้กลับมาเพาะปลูกได้ตามแผนการเพาะปลูกและช่วยชดเชยรายได้จากช่วงฤดูน้ำหลากให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำออกจากทุ่งโพธิ์พระยาและทุ่งผักไห่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเพาะปลูกได้โดยเร็วที่สุดตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านสถานการณ์น้ำภาคใต้ ปัจจุบันมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่ภาคใต้ว่า ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2567 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นั้น
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนโดยการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ การตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเจ้าหน้าที่ ให้สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอุทกภัยได้ทันที