นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ ดร.ฉู ตง หยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และคณะ เข้าเยี่ยมชม “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ว่า FAO ได้ประกาศรับรองให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 โดยเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานในพื้นที่ภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก ซึ่งทางจังหวัดพัทลุงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 2 ปี ที่ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ GIAHS ภายใต้กิจกรรม “3 มรดกโลก (3 World Heritage Festival)” โดยจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดเดียวที่มี 3 มรดกโลก ได้แก่ ระบบมรดกทางการเกษตรโลกจาก FAO “วิถีการเลี้ยงควายปลัก” มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจาก UNESCO “โนรา” และพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก (แรมซาร์ไซต์) กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนทะเลน้อย โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมและองค์ความรู้ที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือความร่วมมือการสนับสนุนจาก FAO ในด้านการจัดทำระบบตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และความร่วมมือทางวิชาการต่อไป ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้รายงานถึงความท้าทายของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ปัจจุบันพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยพบว่า มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยในพื้นที่ป่าพรุ รวมถึงการขยายตัวต่อพืชรุกรานต่างถิ่นอย่างจอกหูหนูยักษ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของควายและระบบนิเวศ
ผู้ตรวจฯ วุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบมรดกทางการเกษตรโลกมีความแตกต่างจากมรดกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO โดยเน้นให้ความสำคัญกับมิติต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการทำการเกษตร โดยระบบมรดกทางการเกษตรโลก เป็นเครื่องยืนยันว่า การเกษตรไม่ใช่แค่การผลิตอาหารเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาและพัฒนาชุมชนและพื้นที่เพื่อต่อสู้กับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2568 FAO จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะแนะนำความสำเร็จของระบบมรดกทางการเกษตรโลก การสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตร
ทั้งนี้ FAO ได้ริเริ่มการดำเนินงานเรื่อง GIAHS มา 20 ปี แต่ยังมีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพียงไม่กี่ประเทศ โดยมีทั้งหมด 79 พื้นที่ จาก 22 ประเทศ จึงอยากให้ประเทศไทยขยายการขึ้นทะเบียน GIAHS ในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยให้จังหวัดพัทลุงเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้แก่ภูมิภาคอื่นๆ พร้อมกันนี้ FAO ได้ชื่นชมการดำเนินงานของประเทศไทย และขอให้ผลักดันการดำเนินงาน รวมถึงแนะนำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก Hani Rice Terraces ในมณฑลยูนนาน ต่อไป
โอกาสนี้ ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ และคณะ FAO ได้รับชมการแสดงรำมโนราห์ ซึ่งเป็นการแสดงที่มีความเชื่อมโยงกับทางความเชื่อและจิตวิญญาณเกี่ยวกับควาย โดยเครื่องแต่งกายจะคล้ายกับเขาควาย นอกจากนี้ คณะได้ร่วมชิมอาหารพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบจากทะเลน้อย เช่น ข้าวสังข์หยด ปลาดุกร้า สาคูต้น ปลาลูกเบ้ เป็นต้น จากนั้น เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับควายปลักทะเลน้อย และการสาธิตการทำหัตถกรรมจักรสานจากกระจูด และทำแป้งจากต้นสาคู ซึ่งความคล้ายคลึงกับมรดกทางการเกษตรโลกของประเทศไทย
“กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญ โดยช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมของทะเลน้อย อีกทั้งสร้างโอกาสในการอนุรักษ์และสร้างรายได้ รวมถึงวัฒนธรรมอาหารของไทยที่โดดเด่น ซึ่งเป็นผลจากการอนุรักษ์และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านระบบมรดกทางการเกษตรโลกให้มีความยั่งยืน และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป” ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ กล่าว