ดร.ณมาณิตา ผู้ช่วย รมว.กษ. ติดตามสถานการณ์หนอนหัวดำมะพร้าวระบาด และติตตามความคืบหน้าโครงการ ปตร.ปลายคลองแม่กลอง สมุทรสงคราม
วันที่ 20 ม.ค.68 ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรมว.เกษตรและสหกรณ์ น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษ อุตตมะเวทิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรชัย อินทร์สุข ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ติดตามโครงการ ปตน.-ปตร.ปลายคลองแม่กลอง และประชุมรับฟังและหารือร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวทำให้มะพร้าวของ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวม 66,929 ไร่ แยกเป็นมะพร้าวผลแก่ 44,352 ไร่ มะพร้าวตาล 10,615 ไร่ และมะพร้าวอ่อน 11,962 ไร่ ขณะนี้มีพื้นที่การระบาดแล้วประมาณ 552 ไร่ เป็นด้วงแรดมะพร้าว 235 ไร่ หนอนหัวดํา 206 ไร่ ด้วงงวงมะพร้าว 69 ไร่ และแมลงดําหนาม 41 ไร่
นายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม และนายชัยยันต์ เจียมศิริ ประธานกลุ่มเครือข่ายสภาเกษตรกรไม้ผล จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า การแพร่ระบาดของหนอนหัวดำตอนนี้เป็นแบบกระจายตัว เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีต้นทุนและทรัพยากรดูแลกำจัดหนอนหัวดำ อีกทั้งแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จทำให้เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้นมะพร้าวตายไปแล้วจำนวนมาก บางสวนตัดแล้วปลูกใหม่ เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการผลิตแตนเบียนเพื่อนำไปกำจัดหนอนหัวดำไม่ทันกับพื้นที่การแพร่ระบาด อีกทั้งแตนเบียนยังช่วยบรรเทาได้แค่ต้นมะพร้าวที่ได้รับผลกระทบไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หากเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่สามารถช่วยได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเกษตรกรให้ทันท่วงที ส่วนการฉีดสารเคมีเข้าต้นเพื่อระงับการระบาดนั้น เกษตรกรยังขาดต้นทุนและขาดองค์ความรู้เรื่องนี้
น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการรายงานการระบาดของหนอนหัวดำที่มีความรุนแรงและระบาดเป็นวงกว้างจะต้องจัดการในหลายรูปแบบ รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเกษตรกรสำหรับการใช้สารเคมีนั้นต้องทำพร้อมกันรวมถึงพื้นที่รกร้างที่ไม่มีเจ้าของซึ่งเป็นแหล่งสะสมโรคและขยายพันธุ์ของแมลงเพื่อที่จะได้ทำครั้งเดียวและได้ผล ไม่ใช่ทำที่นี่แล้วศัตรูพืชก็ย้ายไประบาดที่หนึ่ง
นายกฤษ อุตตมเวทิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือการสแกนพื้นที่เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนก่อนว่าพื้นที่ไหนระบาดหนักจึงจะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไข หากจะมีการใช้สารเคมีก็ต้องดูด้วยว่าวิธีการใช้เป็นอย่างไร เช่น ใช้อีมาเมกตินเบนโซเอต อัตรา 5 ซีซีในต้นมะพร้าวความสูงไม่เกิน 12 เมตร หรืออัตรา 10 ซีซีในต้นมะพร้าวความสูงมากกว่า 12 เมตรเป็นต้น แต่ในสวนที่ถูกทิ้งร้างไม่มีการดูแลหรือเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือสวนที่มีการถมที่ดินเพื่อปลูกมะพร้าวแต่ว่าไม่ได้มีการดูแลอย่างจริงจัง อันสืบเนื่องมาจากมาตรการอื่นๆทางด้านที่ดิน จึงเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ศัตรูพืช ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สำนักงานเกษตรจังหวัด ต้องทำการสแกนให้หมดแล้วเขียนแผนดำเนินงานและต้องลงไปดูแลเพื่อจัดการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ จากนั้นค่อยเข้าสู่กระบวนการอื่นๆต่อไป
ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ประธานคณะติดตามฯ ได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเจ้าภาพสแกนพื้นที่ระบาดของหนอนหัวดำเพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนและรายงานเข้าสู่คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ชุดนี้ เพื่อพิจารณามอบหมายสั่งการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละกรมต่อไป
นอกจากนี้ ดร.ณมาณิตา และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุง ปตน.-ปตร.ปลายคลองแม่กลอง บริเวณ กม.6 500 ของคันกั้นน้ำเค็มสายอัมพวา-เอกชัย เนื่องจากสภาพปัญหาเดิมอาคาร ปตน.-ปตร.ปลายคลองแม่กลอง ไม่สามารถใช้งานได้ บานประตูเรือสัญจร ระบบไฮโดรลิกและระบบต่างๆ รวมถึง ระบบควบคุมระยะไกลชำรุดเสียหาย ส่งผลให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้นั้น กรมชลประทาน จะดำเนินการรื้อถอนและติดตั้งบาน Mitre Gate ขนาด 6.00 x7.00 เมตร และอุปกรณ์ประกอบ รื้อถอนและติดตั้งบานปรับระดับน้ำ ขนาด 1.50 X 2.00 เมตร รื้อถอนและติดตั้งระบบไฮดรอลิก และอุปกรณ์ประกอบ จัดหาและติดตั้งระบบควบคุมระยะไกล พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จัดหาและติดตั้งหัวขับไฟฟ้าสำหรับบานปรับระดับน้ำ เริ่มดำเนินการเดือนมีนาคม 2569 สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างเดือนมีนาคม 2569 วงเงินงบประมาณ 95 ล้านบาท ซึ่งทางโครงการชลประทานสมุทรสงคราม ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศ TOR ประมูลงานโดยวิธี E-bidding และจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้