นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ บ้านเตาไห หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งรวงทอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พร้อมรับชมการถ่ายทอดสดไปยังอีก 72 จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการเผา โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา และนายประยูร อินสกุล เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จัดงานดังกล่าวขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจากการเผาสู่การไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อเตรียมดิน และผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุในท้องถิ่น เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ดินมีสมบัติเหมะสมต่อการปลูกพืชอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาว และยังช่วยลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อนด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมขับเคลื่อนและป้องกันปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้บรรลุตามเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2613 ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีโลก โดยวางแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมปี 2567/68 คือ 1) การเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ และป้องปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงตัดสิทธิการได้ความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ และ 2) การส่งเสริมการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเชิงรุกตามนโยบายของรัฐบาลในการรณรงค์ให้ประชาชนลดและเลิกการเผาวัสดุทางการเกษตร โดยได้กำชับหน่วยงานในระดับพื้นที่สร้างแรงจูงใจเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร พร้อมเสนอทางเลือกและข้อเสนอที่จะสามารถให้เกษตรกรยอมรับแนวทางปฏิบัติการทำเกษตรที่ไม่เผาได้ โดยกรมพัฒนาที่ดินรณรงค์ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศร่วมให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
“ปัญหาจากการเผาวัสดุทางการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ นอกจากจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรไถกลบเศษวัสดุซากพืชในพื้นที่เกษตร งดเผาฟางและตอซังพืช ซึ่งจะช่วยให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมี และชีวภาพของดิน ทำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป” นายอัครา กล่าว