นายสมพงษ์ พรผล ได้เริ่มต้นทำการเกษตรตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยได้เรียนรู้วิธีการทำการเกษตรจากการติดตามบิดา มารดา ไปช่วยทำสวน ทำนา คุณลักษณะของนายสมพงษ์ เป็นผู้มีความคิดอย่างมีระบบ มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ทำการเกษตรโดยยึดหลัก “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน” ทำให้สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน เมื่อผลผลิตเหลือจะนำไปแบ่งปันและจำหน่ายในชุมชน มีการคิดหาวิธีลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ สำหรับไว้ใช้ในแปลงเกษตรกรรมของตนเอง และมีการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของครอบครัว โดยร่วมกันวางแผนการออมและใช้จ่ายเงิน เริ่มมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และวางแผนการลงทุนในแต่ละปี เพื่อที่ครอบครัวจะได้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขและพอเพียง
อายุ 78 ปี
การศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4
สถานภาพ สมรส มีบุตร ธิดา 6 คน ชาย 3 คน หญิง 3 คน
ที่อยู่ 55/1 บ้านท่าอยู่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
โทรศัพท์ 076-444-315,089-593-8193
อาชีพ เกษตรกร
คุณลักษณะส่วนบุคคลและประสบการณ์
นายสมพงษ์ พรผล ได้เริ่มต้นทำการเกษตรตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยได้เรียนรู้วิธีการทำการเกษตรจากการติดตามบิดา มารดา ไปช่วยทำสวน ทำนา คุณลักษณะของนายสมพงษ์ เป็นผู้มีความคิดอย่างมีระบบ มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ทำการเกษตรโดยยึดหลัก “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน” ทำให้สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน เมื่อผลผลิตเหลือจะนำไปแบ่งปันและจำหน่ายในชุมชน มีการคิดหาวิธีลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ สำหรับไว้ใช้ในแปลงเกษตรกรรมของตนเอง และมีการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของครอบครัว โดยร่วมกันวางแผนการออมและใช้จ่ายเงิน เริ่มมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และวางแผนการลงทุนในแต่ละปี เพื่อที่ครอบครัวจะได้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขและพอเพียง
นายสมพงษ์ เป็นคนขยันหมั่นเพียร อดทน ทำงานจนสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ และเมื่อตนเองพอมีพอกินในระดับหนึ่ง ก็มีแนวคิดที่จะเอื้อเฟื้อแบ่งปันให้กับสังคม ชุมชน โดยได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการทำการเกษตรที่ตนมีไปยังสมาชิกในชุมชน เป็น “ผู้นำ” ทางปัญญา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ กระบวนการ วิธีการที่เหมาะสม และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนร่วมกัน และค้นหาทางออกเพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองจนเกิดความเข้มแข็งได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรวมกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางท่าอยู่ขึ้น สามารถผลิตยางแผ่นที่มีคุณภาพดี ชั้น 1 เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถกำหนดราคายางแผ่นได้เอง เป็นองค์กรที่เข้มแข็งยังผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนบ้านท่าอยู่และใกล้เคียงจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน และเป็นที่พึ่งของชุมชน ให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนถึงปัจจุบัน
ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์
1. จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรตำบลท่าอยู่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนายสมพงษ์ ได้เสียสละที่ดินของตนเองเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตยางแผ่น และเป็นที่ตั้งศูนย์รับซื้อน้ำยางสดให้แก่เกษตรกรนำมาฝากขาย จนชุมชนสามารถกำหนดราคาได้เอง พร้อมเปิดตลาดประมูลราคายางพาราจากพ่อค้า/โรงงานทำยางแผ่นรมควันในทุกวันพฤหัสบดี ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้ดี ในส่วนของการบริหารจัดการของกลุ่มเกษตรกรท่าอยู่ ได้ยึดหลักทำงานร่วมกันด้วยความรักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กลุ่มดังกล่าวยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางและผลไม้ ปัจจุบันประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลต่าง ๆ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกลุ่มเกษตรกรและองค์กรต่างๆ ทั้งในจังหวัดพังงาและจังหวัดใกล้เคียง และยังมีการจัดตั้งร้านค้าสวัสดิการของสมาชิก เพื่อจำหน่วยสินค้าราคาถูกให้แก่สมาชิกอีกด้วย
2. จัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน เพื่อระดมเงินทุนและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรฝากเงินภายหลังจากการขายยางพารา เป็นการฝึกการออมเงิน ให้คนในชุมชนได้มีการใช้จ่ายเงินอย่างมีระเบียบแบบแผน
3. จัดตั้งตลาดผลไม้พื้นบ้านเพื่อจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรในทุกช่วงฤดูกาลผลไม้ เช่น ทุเรียน สละ เงาะ มังคุด เป็นต้น เกษตรกรจะรวมกลุ่มสร้างจุดขายผลไม้สองข้างถนน ทำให้ผลผลิตได้ราคาดีกว่าขายผ่านพ่อค้าคนกลาง
4. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน ในที่ดินของตนเองภายใต้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรที่เข้ามารับการฝึกอบรม และมีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายเพื่อให้สมาชิกร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด
5. บริหารจัดการและรวมกลุ่มองค์กรเกษตรกร ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร สมาชิกในกลุ่ม สมาชิกในชุนชน อย่างต่อเนื่อง
การขยายผลงาน
1. เป็นวิทยากร บรรยายเผยแพร่ความรู้ทางด้านการเกษตร การดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย การพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรผู้สนใจโดยทั่วไป โดยมีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรได้ทั้งในพื้นที่ชุมชน และจังหวัดใกล้เคียงได้นำความรู้ แนวคิดในการบริหารจัดการไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ
2. ใช้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นแหล่งในการจัดการผลผลิตให้กับสมาชิกในชุมชน และสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
3. ถ่ายทอดผลงานข้อเสนอแนะ แนวคิดที่เป็นประโยชน์ผ่านเวทีประชุม เสวนา การร่วมเป็นผู้แทนในคณะกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ ตลอดจนมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ