นายผาย สร้อยสระกลาง
16 พ.ย. 2560
29,960
2,896
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2553
นายผาย สร้อยสระกลาง
นายผาย สร้อยสระกลาง

นายผาย สร้อยสระกลาง

เป็นบุคคลสำคัญที่ได้ส่งเสริมให้ชุมชนและคนในชุมชนได้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ด้วยการทำเป็นตัวอย่างในเรื่องากรทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อในชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้รู้จักการอุดรูรั่วของตนเอง ค่อยเป็นค่อยไปจากเล็กไปหาใหญ่ มีขันติ วิริยะ สัจจะ ก็จะทำให้งานทุกอย่างสำเร็จ รวมถึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการออมน้ำด้วยการขุดสระน้ำด้วยตนเองจนในชุมชนมีสระน้ำเป็นของตัวเองจำนวนกว่า 200 บ่อ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

การศึกษา

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

อาชีพ

เกษตรกรรม

ที่อยู่

บ้านเลขที่ 158 หมู่ที่ 1 บ้านสระคูณ ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ผลงานดีเด่น

- รวมกับครูบาคำเดื่อง และครูบาสุทธินันท์ ตั้งโรงเรียนชุมชนอีสาน เพื่อแสดงบทบาทและทำหน้าที่เป็นสถาบันประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในท้องถิ่นโดยเฉพาะภาคอีสาน
- จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

ประวัติ

      นายผาย สร้อยสระกลาง หรือพ่อผาย ปราชญ์ชาวบ้านนักจัดการของภาคอีสาน ประกอบอาชีพเกษตรกรแบบผสมผสาน เป็นแกนนำในเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คนในชุมชนมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

     ในอดีตพ่อผายเคยบวชเรียนอยู่ 10 พรรษา และได้นักธรรมเอง หลังจากสึกออกมาเป็นฆราวาสได้แต่งงานมีภรรยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพัฒนาของพ่อผาย สืบเนื่องจากพ่อผายผ่านการบวชเรียนมาหลายพรรษา ทำให้พ่อผายสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมะพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อหาแนวร่วมทางความคิด จนสามารถจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านโดยอาศัยการพัฒนาบนฐานของวัฒนธรรมเดิม ปลุกจิตสำนึกให้คนหวงแหนบ้านเกิดจนอยากที่จะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง แต่ผลจากการพัฒนาประเทศโดยรวม ได้นำพาอีสานเข้าสู่กระแสพายุ "ปฏิวัติเขียว” พ่อผายและชาวบ้านได้ถูกพัดไปตามกระแสโดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ส่งผลให้แนวความคิดในการดำรงชีวติเปลี่ยนไป จากเดิมทำการเกษตรเพื่ออยู่เพื่อกิน มีกินก็มีใช้ตามอัตภาพ เปลี่ยนเป็นทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อสนองความต้องการตลาด โดยหวังว่าจะได้เงินทองจำนวนมาก เพื่อจะยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น

     ในปี 2525 สภาพอากาศแห้งแล้งจัด ชาวบ้านสระคูณได้รับความเดือดร้อนมากและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต่อมาได้มีคนเสนอขายที่สาธารณะที่อำเภอละหานทราย จำนวน 100 ไร่เศษ เพื่อปลูกข้าวโพด โดยชักชวนหว่านล้อมให้เห็นลาภก้อนโต จากแนวคิดของพ่อผายตัดสินใจกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท เพื่อนำเงินไปลงทุนปลูกข้าวโพด ที่ อำเภอละหานทราย แต่ผลของการตัดสินใจครั้งนั้นไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้ ปีแรกผลิตไม่ได้มากเพราะฝนแล้งทำให้ขาดทุน ปีที่สองผลผลิตออกมามากแต่ถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ ทำให้พ่อผายไม่มีเงินมาใช้หนี้ เงินที่จะลงทุนต่อไปก็หมด ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้พ่อผายได้คิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา จึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาตนเองเดินทางผิด คิดแค่เพียงว่าอยากรวยจึงทำให้เป็นหนี้ ผลจากการกระทำนี้ก็ได้ทำลายทุนทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ทำลายทุนทางครอบครัว เนื่องจากต้องจากบ้านมา พ่อผายได้คิดหาทางออกจึงตัดสินใจว่า "จะไม่ไปหาเงิน แต่จะให้เงินมาหาเอง จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเอางานและความสุขเป็นตัวตั้ง” เมื่อคิดได้จึงตัดสินใจกลับบ้านเพื่อสร้างฐานความพออยู่พอกิน พ่อผายได้ค้นหาวิธีในการแก้ปัญหาโดยการนำคำสอนของพ่อแม่ที่เคยสั่งสอนในสมัยที่เป็นเด็กมาประยุกต์ใช้ "แม่ไปไฮ่หมกไข่มาหา แม่ไปนาหมกไข่ปลามาป้อน แม่เลี้ยงม่อนอยู่ที่ป่าสวนมอน” ทำให้เกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เร่งสร้างกองทุนโดยการพึ่งตนเองจากทุนเดิมที่พ่อแม่มอบให้ คือมือซ้ายห้าแสน มือขวาห้าแสน โดยการขุดสระเพื่อการออมน้ำ การสร้างปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ และการฝากเงินออมโดยการออมสัตว์เลี้ยง การรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยการออมต้นไม้

     พ่อผายได้ใช้หลักคิด "อ่านตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้” ซึ่งหมายความว่า เราเป็นชาวนาจะให้ไปเป็นนายอำเภอ เป็นหมอ ฝืนธรรมชาติ จึงตั้งมั่นว่าจะเป็นชาวนาที่สามารถพึ่งตนเองได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และที่สำคัญต้องมีความสุข ซึ่งหมายถึงการมีหลักประกันในชีวิตครบถ้วน มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ดี อิสรภาพ และเข้าถึงธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง จากแนวคิดที่ได้พ่อผายจึงเริ่มวางแผนทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยคิดว่าปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำเกษตร คือ น้ำ จึงได้ตัดสินใจแบ่งพื้นที่นา 15 ไร่ เพื่อขุดสระด้วยจอบแต่ประสบปัญหาเนื่องจากภรรยาไม่ยอมให้ขุด เพราะเห็นว่าพื้นที่นานาที่มีอยุ่น้อย ถ้าขุดสระพื้นที่เพาะปลูกก็จะเหลือน้อย แต่ด้วยความแน่วแน่และมุ่งมั่น พ่อผายจึงตัดสินใจขุดสระน้ำด้วยจอบเพียงลำพังให้เวลา 8 เดือนจึงประสบผลสำเร็จ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทำให้สามารถกักเก็บน้ำจนเต็มสระได้ จากนั้นก็ไปเรียนเรื่องการเพาะเลี้ยงปลา หลักจากนั้นได้นำพันธุ์ปลาจำนวน 1,000 ตัวมาเลี้ยงในสระ เมื่อปลาโตเต็มที่ ก็ได้ออกอุบายให้ภรรยามาช่วยจับปลา เมื่อภรรยาเห็นปลาที่อยู่ในสระก็ดีใจ จึงยอมรับแนวคิดของพ่อผายในที่สุด การกระทำนี้เป็นการทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เป็นการหาแนวร่วมในครอบครัวก่อน

     หลังจากประสบความสำเร็จในการขุดบ่อเลี้ยงปลา พ่อผายก็ขุดสระเพิ่มอีก 2 บ่อ โดยพื้นที่บนสระก็ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงหมู, เป็ด, ไก่, ในฤดูทำนาก็มีน้ำสำหรับทำนา ผลผลิตทีได้ก็นำไปบริโภคในครอบครัวส่วนที่เหลือจากบริโภค ก็นำไปขาย จนสามารถเก็บเงินไปใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมด เงินที่เหลือก็นำไปซื้อที่เพิ่มจากเดิมมีพื้นที่ 15 ไร่ ปัจจุบันพ่อผายมีพื้นที่ทั้งหมด 95 ไร่ จากกิจกรรมที่หลากหลายใรแปลงเกษตร มีพืชพันธุ์มากมาย อาทิ ไม้ยืนต้น ผัก ผลไม้ต่างๆ ทำให้พื้นที่ของพ่อผายมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียืวัตถุที่สำคัญผลผลิตที่ได้ปลอดจากสารพิษ สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยจากสารพิษ สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยจากการที่พ่อผายเข้าใจในหลักการ และสามารถปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว ก็เริ่มขยายแนวคิดและวิธีการทำให้กับญาติ พี่น้อง คนในชุมชน และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป ซึ่งได้มีการปฏิบัติจนสามารถรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ชื่อกลุ่ม "อีโต้น้อย” กิจกรรมที่กลุ่มทำได้ได้แก่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดบุญประทายข้าวเปลือก การเทศน์มหาชาติ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การรักษาโรคแบบพื้นบ้าน ส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้านทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับหมู่บ้าน จัดตั้งกองทุนวัว จัดตั้งกองทุนหมุนเวียน จัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดและกลุ่มออมทรัพย์ และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ศพ

      นอกจากที่พ่อผายทำกิจกรรมภายใต้กลุ่มอีโต้น้อยแล้ว ก็ยังดำเนินกิจกรรมร่วมกับปราชญ์ท่านอื่นอีกเช่น ในช่วง ปี พ.ศ.2534 องค์กรพัฒนาเอกชนมูลนิธิหมู่บ้าน โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ และอาจารย์ยงยุทธ์ ตรีรุชกร ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการรวมตัวของปราชญ์ภายใต้ชื่อ "ชมรมอุ้มชูไทยอีสาน” เป็นการนำปราชญ์ผู้ที่มีความรู้เรื่องธาตุทั้ง 4 มารวมตัวกัน ประกอบด้วย พ่อผาย สร้อยสระกลาง (ธาตุดิน) พ่อทัศ กระยอม (ธาตุน้ำ) พ่อหนูเย็น ศรีสิงห์ (ธาตุลม) และพ่อบัวศรี ศรีสูง (ธาตุไฟ) โดยมีพ่อบัวศรี เป็นประธานกลุ่ม แนว ดำเนินการของชมรมนี้จะส่งเสริมกันและกัน และเสนอทิศทางที่เหมาะสมให้กับสถาบันและสังคมอื่นๆ ได้รับรู้บนพื้นฐานของแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กรชาวบ้าน เหตุเนื่องจากการพัฒนาภาคอีสานที่ผ่านมาไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาของอีสานได้อย่างมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม แตะจะลากไปตามกระแสสายธารใหม่ซึ่งรั้งแต่จะทำให้คนอีสานจมน้ำตายอีกสาเหตุหนึ่ง คือองค์กรชาวบ้านไม่มีการรวมตัวกัน

      ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 อาจารย์เสน่ห์ จามริก เข้ามาร่วมทำโครงการโรงเรียนชุมชนอีสาน ภายใต้การนำกลุ่มชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ และพ่อคำเดื่อง ภาษี วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาก็เพื่อแสดงบทบาท และทำหน้าที่เป็นสถาบันประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสาน เป็นการพัฒนาคนอีสานให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองได้ในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสาน เป็นการพัฒนาคนอีสานให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองได้ในชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างรอบด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนเพื่อมีส่วนร่วมเสริมสร้างการพัฒนาประเทศชาติโดยรวมให้มั่นคง โรงเรียนชุมชนอีสานจึงได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสมาชิกของโรงเรียนทุกคนกลายเป็นกำลังสำคัญหลักของเครือข่าย

ตกลง