ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ติดดิน ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน และมีความพากเพียร รวมถึงเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ รอบคอบ และมีความระมัดระวังในการนำสิ่งต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินชิวิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลครอบครัวรวมไปถึงประเทศชาติ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ทำสิ่งใดก็มิได้หวังผลตอบแทน คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านวิทยาสาสตร์ ศิลปะ โดยนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้ก้าวหน้า ส่วนความรู้ด้านศิลปะ เช่น การเล่นดนตรี การแต่งเพลง การวาดภาพ และการทำสิ่งประดิษฐิ์ต่างๆ ก็นำมาใช้เป็นสิ่งจรรโลงชีวิตให้มีความสุข
การศึกษา
- กสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (กส.บ.)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 2
สถานภาพ สมรสกับคุณกัลยา มนตริวัตร มีบุตร 3 คน และธิดา 1 คน
อาชีพ ข้าราชการบำนาญ
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 6 ซอย 41 ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
ผลงานดีเด่น
- การปรับปรุง ขยายพันธุ์ และการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าว
- การนำวิชาการสถิติและการว่างแผนวิจัยการเกษตรออกใช้ในภาคสนาม
- การนำนโยบายการปลูกยางพาราไปปลูกทางภาคอีสาน (อีสานเขียว)
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ
- จัดตั้งห้องสมุดกล้วยไม้ระพี สาคริก
- นักดนตรี
- นักแต่งเพลง
- นักศิลปะ
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นอาจารย์ประจำแต่เนื่องจากชอบทำงานค้นคว้าภาคสนาม จึงเลือกไปทำงานที่สถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว และริเริ่มการนำวิชาการสถิติและการวางแผนวิจัยการเกษตรออกมาใช้ในงานสนามเป็นครั้งแรก พร้อมกับทำการศึกษาวิจัยเรื่องกล้วยไม้อย่างจริงจัง เหตุจูงใจมาจากการที่ชื่นชมความงามของดอกไม้ประเภทนี้ โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ที่ขึ้นตามป่าเขา ซึ่งเคยเห็นตั้งแต่เด็กจากการติดตามบิดาไปตรวจราชการทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกิดความต้องการที่จะทะลายกำแพงระหว่างชาวบ้านกับกล้วยไม้ให้ได้ เพราะส่วนใหญ่การเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะผู้มีฐานะร่ำรวย เนื่องจากกล้วยไม้ลูกผสมที่ประกวด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่สาสตราจารย์ระพี ทราบว่าส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ลูกผสมที่นำเข้า มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ซึ่งเก็บจากป่าในประเทศไทยเราเอง โดยทำการศึกษาวิจัยด้วยทุนส่วนตัวกับเวลาว่างจากภารกิจประจำ และงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก และยาสูบ ต่อมาท่านได้อุทิศตนให้กับงานค้นคว้าวิจัยด้านกล้วยไม้ จนได้รับการยอมรับจากวงการกล้วยไม้ของโลกว่าเป็นผู้เชียวชาญมากที่สุดผู้หนึ่ง
เมื่อทำงานวิจัยได้ 2 ปี จึงกลับเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. 2493 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ย้ายเข้ามาประจำกรมกสิกรรมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อทำงานปูพื้นฐานการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยตามความต้องการของหน่วยงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนวิชาข้าว การวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ทางชีววิทยา นอกจากนั้นยังได้ปลูกฝังทัศนะอันงดงามต่อโลกและชีวิตแก่ลูกศิษย์ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนติดดินตามวัฒนธรรมเกษตรไทยอีกด้วย
อีก 2 ปีต่อมา ศาสตราจารย์ระพี ได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อมีการตั้งกรมการข้าวในช่วง พ.ศ. 2496 โรงสรทดลองของแผนการโรงสี กรมการข้าว ในช่วงที่ท่านเป็นหัวหน้าอยู่ก็กลายเป็นห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพข้าวห้องแรกที่ใช้ในการเรียน การสอน การส่งเสริม การฝึกอบรม และการทำวิทยาริพนธ์ของนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพื้นที่หลังโรงสีก็สร้างเรือนต้นไม้ไว้ให้นิสิตมีใจรักกล้วยไม้ ทดลองปลูกกล้วยไม้ในยามว่าง ต่อมาศาสตราจารย์ระพี ได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาภาควิชาพืชสวน ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นในคณะกสิกรรมและสัตวบาล (คณะเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2503 โดยมิได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตรย์มาก่อน
นอกจากนั้นท่านยังเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอกเกรียกศักดิ์ ชมะนันท์ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการนานแล้ว ท่านก็ยังได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” ด้วยการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์ขยายพันธุ์ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ (พ.ศ.2511) ซึ่งเป็น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้านวิชาการ และยังได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ.2513) อีกด้วย
ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปี เศษ ผลงานด้านกล้วยไม้ของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับการเผยแพร่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางถึงระดับนานาชาติ นับแต่ พ.ศ.2506 เป็นต้นมา และได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกทุกครั้ง สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เสมือนเป็นประเพณีของเวทีแห่งนั้น นอกจากนั้งได้ปฏิบัติงานบริหารระดับสูงหลายตำแหน่งได้แก่ เลขาธิการมหาวิทยาลัย รองอธิการบดีฝ่ายธุรการและอธิการบดี (พ.ศ. 2518 – 2523) ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้โลก ครั้งแรกของเมืองไทยเมื่อปี 2521 เมื่อสิ้นสุดวาระอธิการบดีแล้ว ท่านได้รับทาบทามให้เป็นประธานสภาข้าราชการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนในการจัดตั้งองค์กรที่พัฒนามาเป็นที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ยังเป็นสมาชิกก่อตั้งและนักดนตรีวงดนตรี เคยู แบนด์ และเข้าร่วมวงดนตรี อ.ส. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกอากาศทางสถานีวิทยา อ.ส.ช่วง พ.ศ.2495 และทำหน้าที่เป็นโฆษกหน้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ช่วง พ.ศ.2506 – 2524) ทุกครั้ง และเมื่อ พ.ศ. 2522 ท่านก็ได้รับเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต่อมาศาสตราจารย์ระพี สาคริกได้ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ที่เคยดำรงก่อนกำหนดเกษียณอายุราชการ เพื่อมาใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่ายเหลือเพียงการเป็นมี่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบท จริยธรรม และได้ปวารณาตนที่จะทำงานให้เฉพาะองค์กรการศึกษาและสาธารณกุศลเท่านั้น
คุณูปการของท่านต่อวงการกล้วยไม้เป็นที่ตระหนักแก่สาธารณชนมากมาย อาทิเป็นคณะกรรมการจัดตั้งห้องสมุดกล้วยไม้ ระพี สาคริก และผลงานทางด้านวิชาการกล้วไม้ต่างๆ ท่านยังมีทัศนะอันกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทันการณ์ต่อชีวิตและโลก ซึ่งได้รับการเรียบเรียงเป็นบทบาทความ ตีพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่า 10 เล่ม บางเล่มมีผู้ขอตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น เพียงข้าวเมล็ดเดียว หอมกลิ่นกล้วยไม้ แด่วิญญาณครูที่ฉันรักยิ่งชีวิต วิญญาณใต้ร่มนนทรี เกษตรกรที่รัก เขียนจากใจ บรรทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นต้น และด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากวงการสื่อมวลชนเป็น ราษฎร์อาวุโส โดยน้อมรับฟังความคิดความเห็นด้วยความเคารพอย่างสนิทใจ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็ยังคงเป็นทั้งอาจารย์ คุณพ่อ และคุณปู่ ของศิษยานุศิษย์ที่พร้อมจะชี้ทางสว่างและคลี่คลายปัญหาให้ด้วยเมตตาธรรมไม่เคยเปลี่ยแปลง