สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย
นายเอนก สีเขียวสด
อายุ 64 ปี
การศึกษา ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา ปรัชญาในศีลธรรมการบริหารธุรกิจและ งานสังคมสงเคราะห์ (Internation University of Marality (IUM)
สถานภาพ สมรส
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 57/1 บ้านชาด หมู่ที่ 2 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง
โทรศัพท์ 081 652 5666
อาชีพ เกษตรกร
คุณลักษณะส่วนบุคคล
นายเอนก สีเขียวสด อดีตเด็กวัดจบเพียงแค่ชั้น ป.7 เริ่มต้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เลี้ยงนกกระทาใต้ถุนบ้าน ด้วยความขยัน อดทน ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาทำให้มีความเชี่ยวชาญ จนสามารถสร้างธุรกิจเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปนกกระทาและไข่นกกระทาแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยองค์ความรู้และผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการเลี้ยงนกกระทาแบบครบวงจร ทางสถาบัน Internation University of Marality (IUM) จึงได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาในศีลธรรมการบริหารธุรกิจและงานสังคมสงเคราะห์ ให้แก่นายอเนก เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติ โดยเอนกฟาร์มดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ 1) การเพาะพันธุ์นกกระทาไข่ นกกระทาเนื้อ 2)การเลี้ยงนกกระทาเนื้อ 3) การเลี้ยงนกกระทาไข่ 4) การผลิตอาหารนกกระทา 5) การแปรรูปนกกระทาไข่ นกกระทาเนื้อ 6) การผลิตปุ๋ยมูลนกกระทา 7) การรับซื้อไข่นกกระทา นกกระทาเนื้อ 8) การจำหน่ายไข่นกกระทาสด แปรรูปไข่นกกระทา อุปกรณ์การเลี้ยงนกกระทา และพันธุ์นกกระทา ตั้งแต่การเลี้ยง ด้วยกำลังการผลิตนกกระทาเนื้อปีละ 73 ตัน ไข่นกกระทาปีละ 20 ล้านฟอง มีเครือข่ายเกษตรกรภายใต้แนวคิด“ทำได้แล้วให้คนอื่นทำได้” โดยผลิตนกกระทา การแปรรูป และจำหน่ายสินค้าไข่และนกกระทาแปรรูปที่ได้มาตรฐานปลอดภัยและมีคุณภาพดี ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยเชื่อว่าความด้อย ความขาดแคลน ไม่ใช่ข้อจำกัดของการทำความดี ซึ่งการเลี้ยงนกกระทาจะเน้นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม ผู้เลี้ยงนกกระทาภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อขยายเครือข่ายผู้เลี้ยงนกระทา ทำให้ทุกครอบครัว มีรายได้ที่มั่นคงและสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้
ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์
นายเอนก สีเขียวสด เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงนกกระทาแบบครบวงจร โดยร่วมกับกองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาสายพันธุ์นกกระทาเนื้อและ นกกระทาไข่ จึงเกิดสายพันธุ์ใหม่ โดยนกกระทาไข่ใช้ชื่อ“สายพันธุ์เอนก ๑” และนกกระทาเนื้อใช้ชื่อ “สายพันธุ์เอนก ๒” ทำให้นกกระทาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โตเร็ว แข็งแรง ไข่ดก พร้อมทั้งร่วมประดิษฐ์คิดค้น เครื่องต้มไข่ เครื่องกะเทาะเปลือกไข่ เครื่องปอกไข่ และเครื่องถอนขนนกกระทาราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถถอนขน นกกระทาได้เกลี้ยงเกลาดีกว่าเครื่องของต่างประเทศที่มีราคาแพง ด้านการแปรรูปไข่นกกระทาและตัวนกกระทา เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ไข่นกกระทาต้มสุก ไข่นกกระทาบรรจุกระป๋อง ไข่นกกระทาอนามัยบรรจุถุงสูญญากาศ ไข่นกกระทาปรุงรสผลไม้ และรสสมุนไพรต่างๆ ไข่เค็มนกกระทาดินจอมปลวก นกกระทาอบสมุนไพร และนกกระทาบรรจุกระป๋อง เช่น นกกระทาทอดกระเทียมพริกไทย นกกระทาตุ๋นยาจีน นกกระทาตุ๋นมะนาวดอง พะโล้นกกระทา เป็นต้น นอกจากนั้นการเลี้ยงนกกระทายังทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชีพ ต่างๆ เช่น กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มพืชสมุนไพร กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายวัตถุดิบและเป็นคู่ค้าเกื้อกูลระหว่างกันเชื่อมโยงภายในจังหวัดและส่วนภูมิภาค ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์การเลี้ยงนกกระทาแบบครบวงจรมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงทำให้นายเอนกได้รับคัดเลือกเป็นอนุกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติการปฏิบัติการที่ดีสำหรับฟาร์มนกกระทา และอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่างมาตรฐานไข่นกกระทา
การขยายผลงาน
นายเอนก สีเขียวสด ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ โดยเป็นวิทยากรบรรยายด้านการเลี้ยงนกกระทาแบบครบวงจรไปทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการเลี้ยงนกกระทาให้มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์และระดับนโยบายของประเทศต่อไป ทั้งนี้ได้จัดตั้งเอนกฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันการศึกษาต่างๆ และคณะศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการทำวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาบรรจุถุงรีทอร์ต ศึกษาหาสภาวะ ที่เหมาะสมในการเตรียมวัตถุดิบอีกด้วย และยังมีกลุ่มที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติและเผยแพร่ เช่น กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงนกกระทากว่า 28 เครือข่าย จาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถผลิตไข่ได้วันละ 600,000 - 700,000 ฟอง ผลผลิตของเครือข่ายเดือนละ 20 ล้านฟอง อีกทั้งยังมีเครือข่ายการค้าส่งกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มเครือข่ายกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลต่างๆ เช่น Youtube Facebook