สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น
นายสุพจน์ สิงโตศรี
อายุ 57 ปี
การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเกษตรกรรม
สถาบันวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี
สถานภาพ สมรส
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 95/1 บ้านหนองมะตูม หมู่ที่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี
จังหวัดราชบุรี 70000
โทรศัพท์ 08-1857-3593
อาชีพ เกษตรกร
คุณลักษณะส่วนบุคคล
นายสุพจน์ สิงห์โตศรี อดีตสัตวบาลประจำฟาร์ม ได้ผันตัวเองออกมาทำฟาร์มหมูหลุมของตนเอง ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ จึงเป็นเกษตรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงหมูหลุม โดยใช้แนวทางการเลี้ยงแบบพึ่งพาธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิต มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่ปล่อยน้ำเสียออกนอกฟาร์ม และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ) ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และการบริหารด้านการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy : B) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาพันธุ์ ผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดยาปฏิชีวนะ ลดต้นทุนการผลิตอาหารโดยใช้พืชอาหารท้องถิ่น ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์ม เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : C) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เศรษฐกิจสีเขียว มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ขุยมะพร้าว แกลบ มารองพื้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นปุ๋ยหมูหลุม (Green Economy : G) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เป็นฟาร์มที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีน้ำเสีย ทั้งนี้ ฟาร์มของนายสุพจน์เป็นฟาร์มหมูหลุมที่มีขนาดใหญ่สามารถผลิตหมูหลุมขุนได้ปีละ 2,000 ตัว และผลิตปุ๋ยจากการเลี้ยงหมูหลุมได้ปีละ 1,000 ตัน มีส่วนแบ่งการตลาด หมูหลุมคิดเป็นร้อยละ 10 และเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุมให้กับผู้สนใจทั่วประเทศ
ผลงานสร้างคุณประโยชน์
นายสุพจน์ สิงห์โตศรี คิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการผลิต การผลิตพันธุ์หมูสองสายพันธุ์ สามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้หมูที่เลี้ยงง่ายและโตเร็ว ด้านอาหารสัตว์ เน้นพืชจากธรรมชาติ โดยผสมอาหารเอง และใช้จุลินทรีย์ในการเลี้ยง ลดต้นทุนการผลิต 30% ด้านการดูแลสุขภาพสัตว์ สร้างภูมิต้านทานให้กินอาหารปลอดสารเคมี พื้นคอกรองด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ใช้น้ำหมักผลไม้และจุลินทรีย์ท้องถิ่นให้สุกรกินเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้านการจัดการฟาร์ม การเลี้ยงหมูหลุมใช้น้ำน้อยกว่าฟาร์มปกติ 10 เท่า และได้ประดิษฐ์เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ที่มีต้นทุนต่ำ เช่น เครื่องหั่นหยวกกล้วย เพื่อประหยัดเวลา เครื่องช่วยให้อาหารสุกร ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เลี้ยงในกรณีต้องไปธุระที่อื่น รวมถึงออกแบบและผลิตตู้อบกุนเชียงระบบไฟฟ้าดิจิตอลคอนโทล สามารถอบได้ครั้งละ 30 - 50 กก. (การใช้เทคโนโลยีระบบตู้อบแห้งลมร้อนระบบอินฟาเรด โดยใช้ไฟฟ้าในการควบคุมระบบและใช้แก๊ส LPG ในการให้พลังงานความร้อน) ซึ่งสามารถลดการใช้ไฟฟ้าจากการใช้ตู้อบปกติถึงร้อยละ 90 โดยวิจัยร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดราชบุรี และแก้ปัญหาชื้นแฉะของคอกที่เกิดจากการกินน้ำ การรั่วของจุ๊บน้ำ โดยปรับวิธีการให้น้ำสุกรจากถ้วยเป็นอ่างน้ำพร้อมจุ๊บน้ำอยู่นอกคอก นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมสุกรร่วมกับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ตำบลดอนแร่ เพื่อส่งชำแหละเข้าโรงฆ่าที่ได้รับมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ แล้วนำมาตัดแต่งเองที่ฟาร์ม และส่งจำหน่าย อีกทั้งมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปเป็น หมูหลุมแดดเดียว หมูหลุมฝอย กุนเชียงหมูหลุม ไส้กรอกหมูหลุม แคบหมูไร้มัน ไส้อั่วหมูหลุม เป็นต้น สำหรับกลุ่มสมาชิก มีช่องทางการตลาดในการจัดจำหน่าย ได้แก่ เปิดขายที่ตลาดชุมชน ต.ดอนแร่ (มูลค่า 1,500,000 บาท/ปี) ตลาดเมืองวิถีธรรมชาติราชบุรี (มูลค่า 1,500,000 บาท/ปี) ตลาดสุขใจนครปฐม และส่งตรงผู้บริโภค เช่น โรงแรม ร้านอาหารในกรุงเทพ นครปฐม ร้านเลมอนฟาร์ม 16 สาขา และจำหน่าย online (ตลาดสุขใจสั่งซื้อล่วงหน้า/ออนไลน์มูลค่า 7,500,000 บาท/ปี) ทั้งนี้มีต้นทุนในการเลี้ยงหมูหลุมต่อรอบ 8 ล้านบาท/ปี สามารถลดต้นทุนด้านอาหารหมักและอาหารเหลว 1.2 ล้านบาท/ปี มูลค่าผลผลิตที่ขายได้ของกลุ่ม 12 ล้านบาทต่อปี
การขยายผลงาน
นายสุพจน์ สิงห์โตศรี เป็นเกษตรกรผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงหมูหลุม จึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม เป็นแหล่งตัวอย่างศึกษาการวิเคราะห์มาตรฐานการเลี้ยงหมูหลุมด้วยวิถีธรรมชาติของกรมปศุสัตว์ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งการจัดงานรวมคนหมูหลุมประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนและส่งเสริมพัฒนาทักษะประสบการณ์วิชาชีพให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ไม่ต่ำกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย องค์กรต่างประเทศ ไปฝึกอบรมการเลี้ยงหมูหลุมยังต่างประเทศ เช่น ลาว พม่า ด้วยองค์ความรู้ความสามารถและประสบการณ์จึงได้รับการคัดเลือกเป็นประธานหมูหลุมแห่งประเทศไทย และริเริ่มก่อตั้งกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดเพื่อขยายผลการเลี้ยงหมูหลุม เช่น ชมรมหมูหลุมจังหวัดราชบุรี 10 อำเภอ 3๕ ราย เครือข่ายมูลนิธิสังคมสุขใจ ด้านการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภายใต้กระบวนการรับรองแบบ มีส่วนร่วม (PGS) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูหลุมตำบลดอนแร่ จำนวน 10 ราย กลุ่มแปลงใหญ่หมูหลุมจังหวัดราชบุรี จำนวน 30 ราย และขยายผลการเลี้ยงหมูหลุมครอบคลุม 60 จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 1,200 กว่าฟาร์ม พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลต่างๆ เช่น Youtube Facebook