สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
นายวินิจ ถิตย์ผาด
อายุ 74 ปี
การศึกษา ปริญญาตรีส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สถานภาพ สมรส
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 167 บ้านหนองแวงใหญ่ หมู่ที่ 8 ตำบลภูปอ
อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์ 08-4321-6553
อาชีพ เกษตรกร
คุณลักษณะส่วนบุคคล
นายวินิจ ถิตย์ผาด ประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตรมา 53 ปี เป็นผู้ดำเนินชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 32 ปี และสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ 28 ปี แต่เดิมรับราชการเป็น เจ้าพนักงานการเกษตร ในขณะปฏิบัติหน้าที่เกษตรกรได้สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บางปัญหา ไม่สามารถตอบได้โดยทันที จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้มาทำการเกษตรด้วยตนเองเพื่อศึกษาปัญหาต่างๆ โดยมองความจริงที่ตนกระทำอยู่ในชีวิตประจำวัน และปรับเปลี่ยนแนวคิดเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นความพออยู่พอกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมีความสุขสบาย โดยดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรบนพื้นที่ 84 ไร่ ประกอบด้วย แหล่งน้ำ (ขุดสระน้ำแบบพวง) 10 ไร่ ปลูกข้าว 10 ไร่ ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกป่าเบญจพรรณ 20 ไร่ เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผล และที่อยู่อาศัย ได้สร้างผืนป่าเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และเป็นแนวกันชนป้องกันมลพิษและสารเคมีจากพื้นที่รอบข้าง และปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ โดยการใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ จุลินทรีย์รากหญ้า จึงทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล โดยใช้หลักการ “ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ” ในพื้นที่เน้น การผลิตตามระบบเกษตรอินทรีย์ ต้องไม่มีสารพิษหรือสารเคมีตกค้างปนเปื้อน ทั้งทางดิน ทางน้ำ และ ทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศให้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นให้ผลผลิตอุดมด้วยคุณค่า ทางอาหารและปลอดสารพิษ จนได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มีการจดบันทึก การปฏิบัติงานในแปลงทุกขั้นตอน และจดบันทึกบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่าย ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จากการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ให้เพียงพอบริโภคตลอดปี อีกทั้งเป็นแปลง 1 ไร่ 1 แสน ตามแบบอย่างโคกหนองนา ธนาคารต้นไม้ ธนาคารน้ำ และธนาคารปลา ซึ่งมีแนวคิดว่า การเป็นแบบอย่างที่ดีได้ด้วย “การทำเป็นตัวอย่างที่ดีกว่าคำสอน” และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินออม เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ผลงานสร้างคุณประโยชน์
นายวินิจ ถิตย์ผาด เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มทำจากสิ่งที่ตนมีอยู่ตามกำลังทุน ทำจากน้อยไปมาก เดินทีละก้าวกินข้าวทีละคำ ลดต้นทุนการผลิต ให้ต่ำที่สุด โดยการใช้ปัจจัยการผลิตราคาถูกและหาได้ง่ายในพื้นที่ ลดรายจ่าย ด้วยการสร้างอาหารกินเอง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกครั้งหนึ่งเก็บผลผลิตได้หลายปี ลด-ละ-เลิก อบายมุข ด้วยการจดบันทึกบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่าย เพิ่มรายได้ จากการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ถ้าผลผลิตเหลือ ก็แจกจ่ายและขาย เป็นแบบอย่างให้กับคนในครอบครัว โดยมุ่งเน้นความพออยู่พอกิน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย และสามารถแบ่งปันให้กับคนในชุมชนได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยองค์ความรู้ที่โดดเด่น คือ 1) การผลิตพืชอินทรีย์ตามระบบมาตรฐาน Organic Thailand 2) สระพวง ขุดสระน้ำแบบ สระพวงเพื่อดักน้ำตามแรงเหวี่ยงของโลก ตามหลักวิทยาศาสตร์โลกหมุนรอบตัวเองไปทางขวามือ และ จะเหวี่ยงน้ำให้กระฉอกไปทางซ้าย เมื่อเราขุดสระดักน้ำให้ทแยงมุมตามแนวเส้นตรงที่ลากจาก ทิศเหนือไป ทิศใต้ น้ำก็จะเติมเต็มสระตลอดทั้งปี 3) ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ส่วนผสมจากมูลไก่ มูลโค แกลบดำหรือแกลบดิบ หญ้าสับ รำอ่อน เมื่อผสมตามส่วนประกอบดีแล้วหมักไว้ในโรงเรือนรดน้ำให้ความชื้น 60 % หมักไว้เกิน 90 วัน ปุ๋ยหมักจะเย็นสนิทและสะอาดไม่มีเชื้อราและแบคทีเรียปนเปื้อน 4) จุลินทรีย์รากหญ้า จะเป็นตัวกระตุ้นให้เม็ดดินปลดปล่อยธาตุอาหารพืช N-P-K ออกมาให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้ 5) สายรุ้ง ที่ใช้ประดับในเทศกาล ปีใหม่ นำมาแขวนรอบแปลงพืชหรือรอบต้นไม้ผล เมื่อแสงอาทิตย์และแสงเดือนมากระทบจะวาวระยิบระยับ ทำให้แมลงตกใจกลัว บินหนี ไม่กล้าเข้าไปวางไข่ ในแปลงผักและไม้ผล ป้องกันหนอนทุกชนิดได้ดีมาก 6) แกลบเผาไล่แมลงในแกลบเผาจะมีกลิ่นไฟไหม้ติดอยู่แมลงจะกลัวไฟไหม้ป่ามาก 7) ขยะเปียกลดภาวะ โลกร้อน การทำหลุมขยะเปียกใส่โคนต้นไม้ผล เป็นการกำจัดขยะเปียกไม่ให้สกปรกแล้วขยะเปียกก็จะค่อย ๆ ย่อยสลายเป็นปุ๋ยชั้นเลิศให้ต้นไม้ อีกทั้งมีแนวคิดในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ได้แก่ 1) การแปรรูปข้าวกล้องอินทรีย์ 5 พลัง เป็นข้าวผง ชงดื่ม เป็นอาหารคนป่วยและเด็กอ่อน เพิ่มมูลค่าข้าวกล้อง กิโลกรัมละ 80 บาท เพิ่มเป็น 500 บาท/กิโลกรัม 2) การแปรรูปข้าวกล้องเป็นข้าวพอง (Snack Rice) เพิ่มมูลค่าข้าวกล้อง กิโลกรัมละ 80 บาท เพิ่มเป็น 1,500 บาท/กิโลกรัม 3) การแปรรูปกล้วยดิบเป็นกล้วยผงชงดื่ม ป้องกันกรดไหลย้อน เพิ่มมูลค่ากล้วยเล็ก หวีละ 10 บาท เป็น 300 บาท และได้นำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ 1) ใช้หลักการห่มดิน ตัดหญ้าคลุมดินเพื่อควบคุมความชื้นบริเวณผิวดิน ลดความเค็มได้ผลภายใน 3 เดือน จนสามารถปลูกพืชผักได้ นำไปใช้ในพื้นที่ อบต.ลาดใหญ่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 2) ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก้ไขปัญหาคนตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอยที่ ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เลิกตัดไม้หันมาปลูกบวบนำใยบวบผลิตเป็นสินค้า OTOP ส่งขายต่างประเทศ 3) กลุ่มเกษตรกรปลูกผักขะอินทรีย์ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้นำเอาองค์ความรู้การบริหารจัดการปลูกผักแบบอินทรีย์ไปใช้จนประสบความสำเร็จ 4) กรณีที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ได้เกิดปัญหาสาหร่ายทะเลซัดเข้าถมฝั่ง จึงได้เสนอความคิดในทีมงาน Cluster ADB (ธนาคารพัฒนาเอเชีย) โดยการนำสาหร่ายทะเลไปคลุมพื้นทราย ซึ่งย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เป็นอย่างดีสำหรับปลูกผักสลัด และพืชผักชนิดอื่นๆ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จนเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพของประชาชนเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
การขยายผลงาน
เป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรตลอดระยะเวลา 28 ปี โดยนำพื้นที่ของตนเองเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน “สวนจารุวรรณ” ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรรูปแบบอินทรีย์ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัฐกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างให้กับคนในครอบครัว และในชุมชน พร้อมทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ “เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง” แก่ผู้มาศึกษาดูงานที่ศูนย์ฯ และเป็นวิทยากรนอกสถานที่ตามคำเชิญของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ฝึกอบรมเกษตรกรด้วยความภาคภูมิใจและ ไม่หวังสิ่งตอบแทน โดยมีเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ปีละไม่น้อยกว่า 1,000 คน และในปี พ.ศ. 2557 – 2559 ได้มีนักศึกษาระดับปริญญาโท จากรัฐลอสแอนเจลิส วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา มาฝึกงานที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และศูนย์ในเครือข่ายปีละ 5 คน ภายใต้ “โจทย์ที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ มีแต่จะพาประเทศชาติล่มจม” ซึ่งได้กระจายไปฝึกงานและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนพอเพียงท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และขอนแก่น โดยนายวินิจ ถิตย์ผาด เป็นวิทยากรโครงการ ทั้ง 4 จังหวัด ผลการฝึกงานทั้ง 3 ปี พบว่านักศึกษาทุกคนมีความสุข มีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอาชีพอิสระ พึ่งพาตนเองได้ ไม่แข่งขันมาก จิตใจสบายๆ มีความเอื้ออาทร แบ่งปัน มีกัลยาณมิตร มีสังคม ที่อบอุ่นพึ่งพาได้ มีความมั่นคงทางอาหารปลอดภัย เศรษฐกิจพอเพียงเป็น “มิติด้านความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และนักศึกษาเหล่านั้นได้กลับภูมิลำเนาไปชักชวนคนในครอบครัว/ชุมชน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้าใกล้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้มีการถ่ายทอดผลงานผ่านสื่อที่หลากหลายและต่อเนื่อง เช่น บทความ วารสาร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ งานวิจัย นิทรรศการ และผ่านทางสื่อโซเซียลต่าง ๆ เช่น Facebook YouTube และ มีกลุ่มเครือข่ายที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และระหว่างภูมิภาค ได้แก่ 1) เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 2) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนกลุ่มข้าวอินทรีย์กาฬสินธุ์ 3) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ศูนย์ปราชญ์สัมมาชีพ มูลนิธิมั่นพัฒนา ศูนย์นวัตกรรมพลังปัญญา 4) เครือข่ายข้าวอินทรีย์ ร้อยแก่นสารสินธุ์ 5) เครือข่ายธุรกิจ BIZ Club จังหวัดกาฬสินธุ์ 6) เครือข่าย Farm Outlet 7) สวนเกษตรอินทรีย์บ้านคุณนาย บ้านหนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ 8) สวนปัญบุญ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ 9) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านเลิงใต้ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม 10) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยเพื่อการค้าบ้านนาคำ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ฯลฯ