พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบ พระราชพิธีบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เริ่มต้นพิธีพราหมณ์ตั้งแต่ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. มีการปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ ทำน้ำมนต์ รวมทั้งประพรมน้ำมนต์ที่คันไถ และพระโค โดยมีการตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร พระลักษมี พระพลเทพ พระโคอุสุภราช เทพี พระอินทร์ พระภูมิเทวี โดยเทวรูป ๗ องค์อัญเชิญมาจากเทวสถาน สำหรับพระนคร (โบสถ์พราหมณ์) คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร พระลักษมี และพระภูมิเทวี นอกจากนี้มีเทวรูปที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ เทพี พระอินทร์ พระพลเทพ และพระโคอุสุภราช
พระพลเทพ จัดเป็นรูปแบบของเทพารักษ์ที่เรียกเป็นสามัญว่า เจว็ด หรือพระภูมิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปสลักจากไม้หรือเขียนลายรดน้ำ นำไปประดิษฐานในศาลเพื่อสักการะ เซ่นสรวงบูชา ส่วนใหญ่ออกแบบเป็นภาพเทวดาถือพระขรรค์ แต่พบว่ามีการทำเป็นรูปเทวดาสองพระหัตถ์ พระหัตถ์หนึ่งถือหนังสือแบบสมุดไทยดำ อีกพระหัตถ์หนึ่งถือแส้ หรือถือพระขรรค์ เทพารักษ์นี้ชาวไทยนับถือว่า เป็นพระภูมิเจ้าที่ มีหน้าที่เป็นผู้รักษาทะเบียนมนุษย์ที่อยู่ในท้องที่ของพระภูมิ หากตั้งบูชาอยู่ในศาล เรียกว่า เจว็ดศาลพระภูมิ
สำหรับพระภูมิ หรือเทพารักษ์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานภายในบริเวณสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ หรือรักษาหน่วยงานของราชการจะมีลักษณะท่าทางและเครื่องอุปโภคที่ทรงถือเป็นไปตามภาระที่รับผิดชอบ เช่น พระภูมิที่ประดิษฐานในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ มีนามว่า พระพลเทพ ทรงยืน มีเครื่องอุปโภค คือ คันไถ ที่ทรงจับด้วยพระหัตถ์ขวาและอยู่ในท่ากำลังไถนา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวและรวงข้าว ลักษณะดังกล่าวสื่อถึงความหมายที่เป็นมงคลในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
(ข้อมูล : หนังสือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน, กรมศิลปากร)
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ในราชสำนักไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏพระราชพิธีนี้มาโดยตลอด นับว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของพระราชอาณาจักร
ในพระราชพิธีที่โดยทั่วไปของราชสำนักไทยมักจะตั้งรูปพระอิศวร พระอุมา พระวิษณุ พระลักษมี และพระคเณศ ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ได้ระบุเทวรูปที่จะนำมาตั้งในปะรำพิธี ดังนี้
“…พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑
พระพลเทพแบกไถ ๑ …”
จะเห็นได้ว่า เทวรูป ๔ องค์แรกจะเป็นเทวรูปทั่วๆ ไปที่มักจะนำมาตั้งบูชาในงานพระราชพิธี แต่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีเทวรูปพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ องค์ คือ เทวรูปพระพลเทพแบกคันไถ
พระพลเทพหรือพระพลราม ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อยู่ในคัมภีร์ศาสนาฮินดูหลายฉบับ ทั้ง วิษณุปุราณะ พรหมปุราณะ ภควัตปุราณะ ฯลฯ กล่าวตรงกันว่า พระองค์นั้นทรงเป็นพี่ชายของพระกฤษณะ ผู้เป็นองค์อวตารของพระวิษณุ ส่วนพระองค์คืออวตารของพญาเศษนาค หรือ อนันตนาคราช ในวัยหนุ่มพระองค์ได้ติดตามพระกฤษณะเพื่อปราบปรามกษัตริย์ผู้ชั่วร้าย คือ พญากังสะ และอสูรต่างๆ อีกมากมาย พระองค์ทรงมีอาวุธประจำกายคือ คันไถ ซึ่งหากตีความทางประติมานวิทยาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะบูชาพระองค์ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตร เนื่องจากคันไถ คือ อุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาให้พระพลเทพถือก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า พระองค์คงเกี่ยวข้องกับการไถ่หว่านในทางใดทางหนึ่ง อีกทั้งพระองค์ทรงเติบโตมาในหมู่บ้านคนเลี้ยงโค ซึ่งอีกสถานะหนึ่งของพระองค์ คือ โคบาล จึงอาจเป็นไปได้ว่าพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม
แม้ว่าในคัมภีร์ปุราณะจะไม่มีการพูดถึงความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างพระพลเทพกับการเกษตรกรรม แต่ในคัมภีร์วิษณุธรรโมตตรปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ศิลปศาสตร์ กล่าวไว้โดยตรงว่า "พระพลเทพเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร" จึงแน่ใจได้ว่า คติการบูชาพระพลเทพในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตรมีอยู่ในอินเดียและคงส่งอิทธิพลมาสู่ประเทศไทยด้วยนั่นเอง