การประโคมดุริยางคดนตรีในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
  • .

    ธำมรงค์ บุญราช1 

            การพระราชพิธีนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย มีจุดประสงค์เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประเทศไทย การพระราชพิธีนี้แบ่งออกเป็น ๒ พระราชพิธี ได้แก่ ๑) พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีทางพุทธศาสนา เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช กระทำเพื่อทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ ที่จะนำไปหว่านไถหว่านในพระราชพิธีแรกนาขวัญ มีข้าวเปลือก เป็นต้น พระราชพิธีนี้จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาเย็น ๒) พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ กระทำในวันรุ่งขึ้นต่อจากพระราชพิธีพืชมงคล การพระราชพิธีนี้ว่าด้วยเรื่องของการลงมือไถเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณสมัยและอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือนจัดขึ้นในเดือนหก

    สำหรับในการประโคมดุริยางคดนตรีในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีรายละเอียดการบรรเลงในแต่ละช่วงดังนี้

            วันพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งจัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธสัมพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วทรงจุดธูปเทียนที่ธรรมมาสน์ศิลา ทรงกราบ ขั้นตอนนี้  ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท วงปี่พาทย์พิธี2 บรรเลงเพลงช้า3

            ช่วงที่ ๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ และพระพุทธรูปสำคัญแล้ว จะทรงประพรมพืชต่าง ๆ ทรงโปรยดอกมะลิและกลีบกุหลาบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพวงมาลัยถวายที่พระพุทธรูปทุกองค์ ขั้นตอนนี้  ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงสาธุการ4

            ช่วงที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เข้าไปเฝ้า ฯ คุกเข่าถวายบังคม  ทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก พระราชทานใบมะตูมและพระราชทานพระธำมรงค์นพเก้า ขั้นตอนนี้ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท วงปี่พาทย์พิธีทำเพลงมหาฤกษ์5

            ช่วงที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เมื่อพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงกราวรำ  ถือเป็นอันเสร็จสิ้นการพระราชพิธีพืชมงคลในช่วงเย็นของวันแรก

            ในวันที่สอง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การประโคมดุริยางคดนตรีจะเริ่มขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในเวลาเช้า เริ่มจากเจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วขบวนอิสริยยศตามแบบประเพณีโบราณรับพระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวน พร้อมด้วยคู่เคียง ๒ ข้าง ข้างละ ๘ นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ขั้นตอนนี้ วงปี่ชวากลองชนะบรรเลงเพลงพญาเดิน อันเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่หมายถึงการไปมาของผู้มีศักดิ์

            ช่วงที่ ๒ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานสอดมือเลือกหยิบดึงผ้าออกมา โดยระหว่างพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานนี้ วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงสาธุการ จนเลือกผ้าและนุ่งทับผ้าที่นุ่งแล้วเสร็จ จึงยุติการบรรเลง

            ช่วงที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นประทับ ณ มุขกลางพลับพลา วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รับเสด็จ

            ช่วงที่ ๔ ครั้นได้มงคลอุดมฤกษ์  โหรหลวงบูชาพระฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย เมื่อพระยาแรกนาจับหางคันไถมือซ้าย มือขวาถือพระแสงปฏัก บัณฑิตถือพระเจ้าเทวบิฐสาดพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงในพื้นดินเดินนำ ขั้นตอนนี้เจ้าพนักงานพิธี กระทั่งมโหระทึก (กระทั่งมโหระทึกตลอดเวลาที่เดินไถ ๙ รอบ)

            ช่วงที่ ๕ พราหมณ์เชิญเทวรูปพระโคอุศุภราชและพระพลเทพเดินนำหน้าพระโคพระยาแรกนา เดินไถดะ ๓ รอบ ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท (เมื่อไถครบแต่ละรอบโหรหลวงจะทำการ ลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่งบรรเลงเพลงสำหรับบท)  ตลอดการเดินไถดะ ๓ รอบนี้ วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเชิดฉาน อันเป็นเพลงที่หมายถึงการเดินอย่างสง่างามของสัตว์ ในที่นี้หมายถึงการเดินด้วยท่าทางอันสง่างามของพระโค เมื่อพระยาแรกนาไถดะไปโดยรี ๓ รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงโคมเวียน อันเป็นเพลงที่หมายถึงการเสด็จมาของเทพเจ้าและเทวดาที่มาร่วมชุมนุมในพระราชพิธีนี้ และสุดท้ายไถกลบอีก ๓ รอบ เพื่อกลบเมล็ดธัญพืชลงในดิน ขั้นตอนนี้ วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงปลูกต้นไม้ อันเป็นเพลงที่หมายถึงความเจริญงอกงามทางเกษตรกรรม วงปี่พาทย์พิธีจะบรรเลงเพลงปลูกต้นไม้จนกระทั่งหว่านกลบเสร็จ วงปี่พาทย์พิธีจึงจะลงจบด้วย เพลงท้ายรัว

            สำหรับความหมายของเพลงหน้าพาทย์ ที่นำมาใช้ประโคมในช่วงที่ ๕ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญนั้น นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายไว้เพิ่มเติม ดังนี้

    “เพลงเชิดฉาน” เป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับบรรเลงประกอบแสดงในฉากที่เป็นการไล่ตามกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ในฉากพระรามตามกวาง จากการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ฉะนั้นการนำเพลงเชิดฉานมาบรรเลงในพระราชพิธีนี้ จึงสื่อความหมายถึงการเดินของมนุษย์และพระโค สำหรับเพลงโคมเวียน เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาการไปมาของเทวดา สื่อความหมายได้ว่าเหล่าเทวดาได้เสด็จเข้ามาร่วมในมณฑลพิธี ส่วนเพลงปลูกต้นไม้ สื่อความหมายถึงกิริยาของพระยาแรกนาที่กำลังหว่านข้าว  (สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, สัมภาษณ์, ๒๖ เมษายน ๒๕๖๖)

            อนึ่งการบรรเลงปี่พาทย์พิธีในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ แต่โบราณไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่ามีวงปี่พาทย์บรรเลงแต่อย่างใด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชปรารภขึ้นกับพระราชครูวามเทพมุนี ว่า “ในการพระราชพิธีนั้นไม่มีดนตรีบรรเลงรู้สึกเงียบเหงาจนเกินไป” จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พระราชครูวามเทพมุนี แจ้งแก่นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ว่ามีพระราชประสงค์เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ จึงบรรจุเพลงหน้าพาทย์ที่มีความหมายอันเป็นมงคลและเกี่ยวข้องลงไปในพระราชพิธีของการพระราชพิธีนี้ ตามพระราชประสงค์ โดยมีการประโคมด้วยวงปี่พาทยพิธีในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

            ช่วงที่ ๖ เมื่อโหรหลวงได้ถวายคำพยากรณ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะแห่พระยาแรกนา เป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ ผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง ขั้นตอนนี้ วงปี่ชวากลองชนะบรรเลงเพลงพญาเดิน อันเป็นเพลงเกียรติยศสำหรับผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา

            ช่วงสุดท้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นอันเสร็จการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีอันเป็นมงคลและเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรชาวไทยทั่วประเทศ

    -----------------------------------

    นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

    วงปี่พาทย์พิธีในงานพระราชพิธีนี้ ใช้วงปี่พาทย์พิธี (เครื่องคู่) ประกอบไปด้วย ปี่ใน ๑ เลา ระนาดเอก ๑ ราง ระนาดทุ้ม ๑ ราง ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง ฆ้องวงเล็ก ๑ วง ฉิ่ง ๑ คู่ ตะโพน ๑ ลูก และกลองทัด ๑ คู่

    3เพลงช้า เป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาการเดินไปหรือมาด้วยจริยาวัตรอันงดงามในงานพระราชพิธีนี้นำมาบรรเลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    4เพลงสาธุการ เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่หมายถึงการเคารพบูชาพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    5เพลงมหาฤกษ์ อยู่ในเพลงเรื่องทำขวัญ หมายถึง ได้เวลาปฐมฤกษ์อันควรแก่มงคลพิธีนั้น

    6เพลงกราวรำ อยู่ในเพลงเรื่องทำขวัญ หมายถึง การประกอบงานพิธีนั้น ๆ ได้สำเร็จ ลงเรียบร้อยแล้ว

     

    -----------------------------------

    รายการอ้างอิง

    สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ. ศิลปินแห่งชาติ.  สัมภาษณ์, ๒๖ เมษายน ๒๕๖๖.

ตกลง