กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง สั่งทุกหน่วยเฝ้าระวัง 23 จังหวัด 74 อำเภอเสี่ยงขาดน้ำทำเกษตร ชี้แผนจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งยังตามแผน หลังพบเกษตรกรหันปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรังเพิ่มขึ้น กรมชลฯย้ำปีนี้ปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุน “ออเจ้า”เล่นสงกรานต์สืบสานประเพณีไทย
วันนี้ (2 เม.ย.61) เวลา 10.30 น. นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่กระทรวงเกษตรฯได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน ณ 1 เม.ย.61 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 50,905 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2560 รวม 7,164 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 26,985 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 15,139 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ซึ่งมากกว่าปี 2560 รวม 3,079 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,443 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ได้มีการการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 61) ทั้งประเทศ ใช้น้ำไปแล้ว 20,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผน และลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 7,157 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 93 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกฤดูแล้ง ปี 2560/61 จากปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 (ข้าวนาปรัง) ทั้งประเทศ ในปี 2560/61 ณ วันที่ 28 มี.ค. 2561 รวมทั้งสิ้น 12.54 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน จำนวน 9.48 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3.06 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแผนการปลูกข้าวนาปรัง พบว่า สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ เพียง 7% ถือว่าอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีพายุฤดูร้อนช่วงที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย แต่ยังไม่พบว่าเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนด 2 มาตรการเตรียมการก่อนเกิดผลกระทบภัยแล้ง คือ 1.การประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอ (มี.ค. – เม.ย. 61) พบว่า ไม่มีพื้นที่เสี่ยงคาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แต่มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร รวม 23 จังหวัด 74 อำเภอ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือสั่งการให้จังหวัด ตรวจสอบพื้นที่และพิจารณาดำเนินการเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจังหวัด ทั้งด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนเกษตรกร ติดตาม เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ โดยประสานงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ถึง เดือน พ.ค.61 2. การบรรเทาผลกระทบ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ทุกหน่วยงานใน กษ. ได้เตรียมกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อให้การช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์หรือเมื่อมีการการร้องขอ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 242 คัน เสบียงสัตว์ 2,807 ตัน เมล็ดพันธุ์ 51 ตัน รวมทั้งการปฏิบัติฝนหลวง ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา
“กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ถึงแม้จะปลูกเกินจากแผนที่กำหนด โดยเน้นย้ำพื้นที่เสี่ยงในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ให้จังหวัดเสี่ยงตรวจสอบพื้นที่และพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และประสานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตฯ ภัยแล้ง รวมถึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณร้อยละ 60 ของเป้าหมาย” รมว.เกษตรฯ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับต้นฤดูฝน ณ 1 พ.ค. 61 ซึ่งกรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 24,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งจะใช้เป็นปริมาณน้ำสำรองที่สามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้อย่างเพียงพอหากเกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนมาช้ากว่าปกติ ส่วนการสนับสนุนน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เป็นน้ำที่อยู่นอกเหนือจากน้ำภาคการเกษตร กรมชลประทานได้มอบหมายให้สํานักงานชลประทานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เตรียมการล่วงหน้าและวางแผนสนับสนุนการส่งน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปยังแหล่งน้ำสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่และยั่งยืนตลอดไป
ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้ามาตรการรองรับความเสี่ยงผลกระทบภัยแล้งตามที่ครม.เห็นชอบแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 พื้นที่ดำเนินการ 53 จังหวัด เป้าหมาย 450,000 ไร่ เกษตรกรสมัครร่วมโครงการ 40,708 ราย พื้นที่ 341,270 ไร่ คิดเป็น 75.84 % ของเป้าหมาย และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลายืนยันการปลูกเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 33,504 ราย พื้นที่ 282,996.50 ไร่ คิดเป็น 82.92% จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลงระดับตำบล จำนวน 33,425 ราย พื้นที่ 268,450.75 ไร่ คิดเป็น 89.64 % จากพื้นที่ยืนยันการปลูก 2) โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 พื้นที่เป้าหมาย 700,000 ไร่ ใน 31 จังหวัด เกษตรกร 47,000 ราย มีเกษตรสมัครร่วมโครงการ 84,931 ราย พื้นที่ 618,689 ไร่ คิดเป็น 88.38 % จากเป้าหมาย แต่จำนวนเกษตรกรที่มายืนยันการปลูก 74,704 ราย พื้นที่ 523,331 ไร่ คิดเป็น 84.58 % จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร โดยเมื่อสิ้นสุดยืนยันการปลูกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบ 64,554 ราย พื้นที่ 436,155.25 ไร่ คิดเป็น 86.41 % จากพื้นที่ยืนยันการปลูก ขณะนี้คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบลกำลังดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขโครงการไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ แต่ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท/ไร่ ให้แก่เกษตรกรรายใด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลง โดยคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบล หากแล้วเสร็จจะดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธกส. โดยเร็วต่อไป