วันที่ 27 มิถุนายน 2562
กองทุน FTA ไฟเขียว 59.9 ล้านบาท พัฒนาโคเนื้อ-โคนม รองรับเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เพื่อเป็นการรองรับการเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 และการเปิดเสรีการค้าไทย-นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งหากการเปิดเสรีการค้ามีผลบังคับใช้อาจมีการนำเข้าเนื้อโค น้ำนมและผลิตภัณฑ์จากทั้ง 2 ประเทศที่มีศักยภาพการผลิตสูงกว่า ทำให้เกษตรกรไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศได้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าต่างประเทศ ดังนั้น กองทุน FTA ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าโคเนื้อและโคนมของไทยเพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้า จึงได้อนุมัติงบประมาณ 59.9 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์ และ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตสินค้าโคเนื้อ และโคนม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
โครงการศึกษาศักยภาพการขุน คุณภาพซาก และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อ 5 สายพันธุ์ ในระบบการขุนเชิงการค้า ของกรมปศุสัตว์ จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อเร่งศึกษาศักยภาพการขุนโคเนื้อ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์โคเนื้อที่เกษตรกรนิยมเลี้ยง ได้แก่ โคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง โคเนื้อลูกผสมโคนมและโคเนื้อ โคเนื้อพันธุ์บราห์มัน โคเนื้อพันธุ์ตาก และโคเนื้อพันธุ์กบินทร์บุรี ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนการเลี้ยงโคเชิงการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐก็สามารถนำข้อมูลมากำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนได้อย่างเหมาะสม โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร ให้ใช้สถานที่และร่วมดูแลโคเนื้อระหว่างที่มีการศึกษาวิจัย
สำหรับอีกหนึ่งโครงการ คือ โครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai Denmark Smart Dairy Farm) ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จำนวน 55.9 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตเชิงธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูง หรือ “Smart Farm” มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งที่เป็น Hard ware และ Soft ware ช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มสามารถให้ผลผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 กก./ตัว/วัน โดยฟาร์มแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติของบุคลากรมืออาชีพการเลี้ยงโคนม รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมฟาร์มเพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อาชีพการเลี้ยงโคนม และการผลิตน้ำนมที่สะอาด มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่งผลในการกระตุ้นการบริโภคนมภายในประเทศ
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยกองทุน FTA จะยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมให้มีความแข็งแกร่ง ให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งขันกับโลกเสรีทางการค้าได้อย่างมั่นใจ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการทราบขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทุน FTA สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2561 4727 หรือ Email: fta.oae@gmail.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www2.oae.go.th/FTA
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร