กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ชะลอการเพาะปลูก หลังมีแนวโน้มฝนตกทิ้งช่วง ด้านฝนหลวงฯ เกาะติดสถานการณ์พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ง
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือน สิงหาคม - กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ น้อยตามไปด้วย จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำของตัวเองเพื่อป้องกันความเสียหายจากปัญหาขาดแคลน้ำ อีกทั้งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เคยรายงานและประกาศให้เกษตรกรเตรียมเฝ้าระวังไปแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกในช่วงนี้จึงอยากขอให้ชะลอการปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์กระจายตัวของฝนปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงการประสบปัญหาดังกล่าว ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (11 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์ฝนตกน้อยว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด
สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อาทิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ จ.มหาสารคาม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากห้วยกุดกู่ ผันน้ำไปลงที่ห้วยวังฮาง เพื่อสูบต่อไปยังโรงสูบน้ำดิบของเทศบาลตำบลเมืองบัว ช่วยเหลือการประปา-ส่วนภูมิภาค อ.เกษตรวิสัย นำไปผลิตน้ำประปา , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณปลายคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวกว่า 50,000 ไร่ ในเขต อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ,อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง อ.เมือง จ.ลพบุรี และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าแนะ อ.ศรีบรรพต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่ ต.เขาย่า อ.ศรีบรรพต และ ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน เป็นต้น
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ออกปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย กระจายทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 3 หน่วย คือ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และพิษณุโลก ภาคกลาง 2 หน่วย คือ จังหวัดลพบุรีและกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย คือ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 1 หน่วย คือ จังหวัดสระแก้ว และภาคใต้ 1 หน่วย คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา กรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดกว่า 3,300 เที่ยวบิน ถือเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้ปฏิบัติการอย่างเต็มประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วพื้นที่ที่ต้องการฝน และยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อดัดแปรสภาพอากาศให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการดูแลพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ แบ่งเป็น เป็นพื้นที่ชลประทาน 35 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนกว่า 110 ล้านไร่ โดยในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน พร้อมทั้งบูรณาการด้านข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและความชื้นในดินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการวางแผนให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในแต่ละวัน นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังได้มีการพัฒนาแผนที่ความต้องการน้ำ โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากพื้นที่ที่เกษตรกรร้องขอ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดของพืช และช่วงอายุของพืชในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ