เกษตรฯ kick off สร้างโคนมไทยเข้มแข็ง พร้อมผลักดันสู่การ แข่งขันในตลาดโลก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาโคนมไทย ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา รัชกาลที่ 9 วัดหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และประชาชนกว่า 1,000 คนให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้ได้มอบปัจจัยการผลิตให้แก่นัวแทนเกษตรกร และเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ ทั้ง 5 ฐาน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กนักเรียน ตามโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอื่นก็สามารถใช้เป็นทางเลือกอาชีพ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติและปัญหาด้านการเกษตรอื่นๆ ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายในการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีความอยู่ดี กินดี โดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ราคาสินค้ามีความแน่นอน สามารถแข่งขันกับการเปิดเสรีทางการค้าได้ ทำให้อาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์มีความมั่นคง สร้างรายได้มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต อันจะเกิดความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้งเกิดการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ให้มีความเข้มแข็งและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองและเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการประกอบอาชีพให้มั่นคงและมีอำนาจการต่อรองทางการตลาดได้
จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศ มีจำนวน 18,301 ราย โคนมจำนวน 661,741 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบ 3,450 ตัน/วัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ มีจำนวน 860,604 ราย โคเนื้อ จำนวน 5,838,118 ตัว สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 958 ราย โคนมจำนวน 35,774 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบ 195 ตัน/วัน และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 10,612 ราย โคเนื้อ จำนวน 134,460 ตัว
“จากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มั่นใจว่า พี่น้องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนหนึ่งมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ จึงขอให้พวกเราได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากฐานเรียนรู้ทั้ง 5 ฐานที่มีการจัดเตรียมไว้ ขอให้ทุกคนได้เข้าศึกษา สอบถาม แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และประเมินศักยภาพ ว่าอาชีพใดเหมาะสมที่จะเป็นอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมโดยปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมกับตนเอง หรือมีส่วนที่จะนำไปปรับปรุงอาชีพที่ทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น สำหรับปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรได้รับมอบในวันนี้ ขอให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนม ได้มุ่งเน้นให้เกษตรกร มีการจัดการเลี้ยงดูโคนม เพื่อผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ มีองค์ประกอบทางโภชนาการ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน แต่ด้วยสภาพการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรในปัจจุบันยังต้องมีการพัฒนา เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น ภายใต้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับในปี 2568 ประเทศไทยต้องเปิดเขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี(FTA) ส่งผลให้น้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์ของน้ำนมโคนมที่นำเข้ามีภาษีเป็นศูนย์ ทำให้เกษตรกรต้องมีการพัฒนาระบบการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพน้ำนม เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้
กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาโคนมไทย กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงโคนมและปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น โคขุน แพะเนื้อ เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกในการเพิ่มรายได้ และแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่มีราคาตกต่ำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ แพะเนื้อ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรทั่วไป จากทุกอำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1,000 คน ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ผ่านฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ดังนี้ ฐานเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การจัดการฟาร์ม ฐานเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง การปรับปรุงพันธุ์ และพันธุ์สัตว์ที่ตลาดต้องการ ฐานเรียนรู้ที่ 3 เรื่อง การจัดการอาหารสัตว์ และพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญ ฐานเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง การจัดการสุขภาพ มาตรฐานฟาร์ม และการเคลื่อนย้ายสัตว์ และฐานเรียนรู้ที่ 5 เรื่อง การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลิตภัณฑ์และการตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการเลือกอาชีพที่มั่นคง เกิดการรวมของเครือข่ายกลุ่มอาชีพการเลี้ยงสัตว์ อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป