เกษตรฯ กำหนดแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 ต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสมมุ่งเป้าเกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่าทุนพร้อมบวกกำไรเพิ่ม 30%
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 134-135 โดยมีนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะคณะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฯ นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมประชุมด้วยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 โดยมุ่งเน้นว่าจะต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง มีหลักการทำงาน คือ 1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผลและ 2) การบริหารจัดการเชิงปริมาณ ปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทานโดยกระทรวงเกษตรฯ ชี้เป้าการผลิตให้ชัดเจน โดยจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) ส่วนกระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิต โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาด (Demand)ตลอดจน คพจ. ปรับสมดุลข้อมูลของอุปทานและอุปสงค์และจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีราคามาตรฐานที่เกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่า ต้นทุน + กำไร 30%มาตรการจะจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการเชิงรุก มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP, มกษ. สถานประกอบการ (ล้ง) ผ่านการรับรอง GMP และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบด้านการตลาด การกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว การผลักดันการส่งออก การเปิดตลาดต่างประเทศแห่งใหม่ เช่น อินเดีย ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางสมัยใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 3. การบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ทั้งกลไกปกติ และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดผลผลิตส่วนเกินในช่วง peak โดยเฉพาะทุเรียนต้องเตรียมแผนรองรับการส่งออกไปจีน ซึ่งเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา จะต้องวางแผนการกระจายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การแปรรูป การแช่แข็ง รวมถึงประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภคในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จนสิ้นสุดฤดูกาล
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีการรายงานคาดการณ์ข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 2563 ณ วันที่ 24 ม.ค.63 ดังนี้ ลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีผลผลิตรวม 699,815 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน ตัน หรือร้อยละ โดยแยกเป็นลำไยในฤดู 439,850 ตัน ลำไยนอกฤดู 259,965 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน ส.ค. ส่วนลิ้นจี่มีผลผลิตรวม 33,873 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน11,783 ตัน หรือร้อยละ 53.34 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน พ.ค. สำหรับการคาดการณ์ข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 63 (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง)ผลผลิตทุเรียนรวม 599,708 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2562จำนวน104,165 ตัน หรือ ร้อยละ 21.02 ผลผลิตมังคุดรวม 204,745 ตัน เพิ่มขึ้น 25,135 ตัน หรือร้อยละ 13.99 ผลผลิตเงาะรวม 224,390 ตัน เพิ่มขึ้น 33,301 ตัน หรือร้อยละ 17.43 และผลผลิตลองกองรวม 24,173 เพิ่มขึ้น 3,880 ตัน หรือร้อยละ 19.12 โดยทุเรียนจะออกมากช่วงเดือน เม.ย.ต่อเนื่องถึงพ.ค.63 ซึ่งจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกชนิด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2564 – 2570เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565 – 2570) มีสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 – 2570 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการผลไม้ในการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าไม้ผลยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดไม้ผลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งและความเสมอภาคให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรไม้ผล และยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตผลไม้ครบวงจร