รมช.ธรรมนัส ส่งเสริมการลด ละ เลิก การเผา โดยให้ใช้วิธีการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอก ควันไฟ และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ ณ บ้านตุ้มเหนือ ต.ท่าจำปี จ.พะเยา ว่า ปัญหาหมอกและควัน ที่เกิดจากไฟป่า และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้มีการกําหนดนโยบาย และมาตรการต่างๆในการป้องกันและบรรเทาปัญหาเหล่านี้ สําหรับสถานการณ์ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกๆปีในพื้นที่จังหวัดพะเยานั้น จะพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกินเกณฑ์มาตรฐาน อยู่ในระดับที่มีส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยในปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม มีพื้นที่เผาไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 9,483 จุด มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก กว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 ในอากาศเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ สาเหตุของการเผาเศษวัสดุในพื้นที่ เกษตร เพื่อเตรียมแปลงปลูกพืชในฤดูถัดไป โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกเหตุผลหนึ่งของการที่เกษตรกรเลือกใช้วิธีการจํากัดเศษวัสดุโดยวิธีการเผา เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทุนในการกําจัดเศษวัสดุในวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“การเผาเศษวัสดุนั้น เป็นการสร้างก๊าซเรือนกระจก สร้างมลพิษทางอากาศ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สูญเสียธาตุอาหารในดิน ทําลายโครงสร้างดินที่เหมาะสม ทําลายห่วงโซ่อาหาร และการไถเตรียมพื้นที่ปลูกด้วยรถแทรกเตอร์นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่จะเกิดขึ้น จึงส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผา และดําเนินการไถกลบเศษวัสดุทาง การเกษตร ในพื้นที่ 6,660 ไร่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในการปลูก ข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ พร้อมส่งเสริมและบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรตามหลักวิชาการ นํามาผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อการปรับปรุงบํารุงดิน การอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ําให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และป้องกันการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเผา” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา เป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทาง การเกษตร จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ซึ่งหากสามารถทราบถึงพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเผาเศษพืช เศษวัสดุทางการเกษตร จะทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดําเนินการการรณรงค์ ส่งเสริม ลด ละ เลิก การเผา บริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร และเข้าถึงเกษตรกรได้อย่างถูกต้องตรงกับพื้นที่เป้าหมาย