นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ในช่วงนี้ ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นและมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในบางพื้นที่ อาจจะประสบปัญหาต้นหม่อนขาดน้ำ เนื่องจากดินที่ปลูกหม่อนขาดความชื้น ต้นหม่อนมีการคายน้ำมาก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ปริมาณใบหม่อนที่ได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงไหมและมีคุณภาพต่ำ เกษตรกรจึงควรหมั่นดูแลแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ โดยใส่อินทรียวัตถุและปุ๋ยคอกในแปลงหม่อนเพื่อให้ดินร่วน น้ำสามารถซึมลงผิวดิน และซับน้ำไว้ได้ดี ใช้วัสดุคลุมผิวดินเพื่อรักษาความชื้น ป้องกันความร้อนจากแสงแดด อาทิ ฟางข้าว เปลือกถั่ว ซังข้าวโพด แกลบดิบ เป็นต้น
ส่วนการให้น้ำ ควรให้น้ำต้นหม่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง โดยวิธีเปิดร่องปล่อยน้ำเข้าแปลง หรือใช้ระบบสปริงเกอร์รดน้ำในแปลงหม่อน นอกจากนี้ ควรทำแนวป้องกันไฟรอบๆ แปลงหม่อน และควรหมั่นสำรวจแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และถ้าพบการระบาดของโรคต่างๆ ให้เก็บใบและตัดกิ่งหม่อนที่เกิดโรคเผาทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
สำหรับการเลี้ยงไหมในฤดูหนาวนั้น สภาพแวดล้อม อย่างเช่นอุณหภูมิและความชื้น เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของหนอนไหม ดังนั้น เกษตรกรควรเลี้ยงไหมให้เหมาะสมตามสภาพอากาศและความชื้น โดยในสภาพอากาศเย็นและความชื้นต่ำ ให้นำเตาถ่านก่อไฟที่หมดควันแล้วตั้งในห้องเลี้ยงไหมและวางกะละมังหรือถังที่มีน้ำสะอาด เพื่อเพิ่มอุณหภูมิและความชื้นให้สูงขึ้น ปิดหน้าต่างและประตูหรือคลุมห้องเลี้ยงไหมให้มิดชิด และใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดคลุมใบหม่อนเพื่อไม่ให้แห้งเกินไป
“อย่างไรก็ตาม หากสภาพอากาศเย็นและความชื้นสูง นอกจากนำเตาถ่านก่อไฟที่หมดควันแล้วตั้งไว้ในห้องเลี้ยงไหมเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นแล้ว การให้ปริมาณใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงในแต่ละมื้อก็ควรให้พอดีหรือใกล้เคียงกับความต้องการของหนอนไหม ควรถ่ายมูลไหมและเศษใบหม่อนที่เหลือออกทิ้งให้บ่อยขึ้น โรยแกลบเผาหรือปูนขาวในช่วงไหมนอน และเก็บใบหม่อนในสภาพที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีและไม่อับชื้น เพื่อลดความชื้นในห้องเลี้ยงไหมด้วย” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว