รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตทุเรียนได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ณ แปลงทุเรียน นางสรารีย์ โทชัย สวนทับทิม บ้านซำตารมย์ ต.ตระกาจอ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ปี 2565 จังหวัดศรีสะเกษมีเกษตรกรปลูกทุเรียน 2,350 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 15,111 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 9,390 ไร่ สำหรับทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกใน 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 5,596 ไร่ ผลผลิตจะออกสู่ตลาด 7,369 ตันคิดเป็นร้อยละ 98 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของจังหวัดศรีษะเกษ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์หมอนทอง นอกจากนี้ ยังมีการกระจายผลิตออกสู่ตลาด โดยจำหน่ายผลผลิตผ่านทางช่องทางออนไลน์ทั้งFacebook/Line และร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งในปี 2565 คาดการณ์สถานการณ์ผลผลิตทุเรียนว่า จะมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,108 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58 มีปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้น 2,758 ตัน คิดเป็นร้อยละ 57.8
สำหรับแปลงทุเรียน สวนทับทิม ของนางสรารีย์ โทชัย พื้นที่ 13 ไร่ 2 งาน โดยปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์นกหยิบ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสวนทุเรียน ได้รับการรับรอง GAP 2553 ถึง ปัจจุบัน และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2562 ถึง ปัจจุบัน และมีการนำระบบ QR Trace มาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อทุเรียนภูเขาไฟ อีกทั้งยังเป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สนองนโยบาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ของรัฐบาล เป็นตัวแทนของจังหวัดศรีสะเกษ มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ามาเยี่ยมชม และเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวสวนทุเรียนที่เพิ่งเริ่มปลูกทุเรียนในชุมชนอีกด้วย โดยจังหวัดศรีษะเกษมีเกษตรกรที่ได้รับ GAP ทุเรียน 858 ราย พื้นที่ 4,453 ไร่
โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้พบปะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านซำตารมย์ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษซึ่งได้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพดีในพื้นที่ มีสมาชิกในกลุ่ม 93 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า1,000 ไร่ สามารถกำหนดราคาขายได้เอง โดยในปี 2564 สามารถส่งทุเรียนไปขายยังตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (ตลาด อ.ต.ก.) และห้างเดอะมอลล์ ได้ในราคา 170 บาทต่อกิโลกรัม และในปี 2565 ได้รับการติดต่อจากบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อขอรับซื้อเนื้อทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม จำนวน 50 ตัน.