สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนราชการจังหวัดนครสวรรค์ เตรียมจัดกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสง (Field Day) ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอโกรกพระ (ศพก.) หมู่ที่ 5 ตำบล เนินศาลา อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยและมีความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ถั่วลิสงเป็นพืชหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี พ.ศ. 2564 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วลิสงภายในประเทศปริมาณสูงถึง 113,498 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 25,074 ตัน ส่งผลให้ มีการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศปริมาณสูงถึง 89,387 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,003 ล้านบาท โดยพื้นที่เพาะปลูกถั่วลิสงหลักจะอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ฯ ซึ่งสาเหตุที่ผลผลิตถั่วลิสงไม่เพียงพอต่อความต้องการ อันเนื่องมาจากเนื้อที่เพาะปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตของประเทศลดลง ทั้งผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ (ผลผลิตเฉลี่ยปี พ.ศ. 2564/65 เท่ากับ 357 กิโลกรัมต่อไร่) จากปัญหาดังกล่าว สวก. ภายใต้การจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับเขตภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ พรมโชติเป็นหัวหน้าโครงการ ได้พัฒนาถั่วลิสงพันธุ์ “KU-สวก.20” มีจุดเด่นในด้านการให้ผลผลิตสูง (393 กก./ไร่) มีอายุการเก็บเกี่ยวเหมาะสมและมีการปรับตัวได้ดีในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ถั่วลิสงที่เหมาะสมต่อฤดูกาล การป้องกันกำจัดวัชพืช รวมถึงการจัดการบริหารจัดการน้ำและธาตุอาหารที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าจากการผลิตถั่วลิสงในประเทศได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท ทั้งในด้านการบริโภค เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์ KU-สวก.20 มีคุณภาพดี เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงอบกรอบมีขนาดเมล็ดได้มาตรฐานการแปรรูปถั่วเคลือบ
สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะมีการบรรยายและเสวนาเรื่อง “การผลิตและโอกาสทางการตลาดของถั่วลิสง สายพันธุ์ใหม่” โดยคณะผู้วิจัย ภาคเอกชนผู้แปรรูป และเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง ชมนิทรรศการเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ “KU-สวก.20” ชมแปลงสาธิตการปลูกและการเก็บเกี่ยวถั่วลิสงสายพันธุ์ใหม่ ชิมและชมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วลิสง สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอโกรกพระ (ศพก.) หมู่ที่ 5 ตำบลเนินศาลา อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น