กระทรวงเกษตรฯ ประชุมซักซ้อมเตรียมพร้อมแผนรองรับภัยแล้ง ปี 2566/67คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 16.51 ล้านไร่
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 123) โดยมี นายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี 2566/67 และเอลนีโญ โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์น้ำ และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนพิจารณาแผนงาน/โครงการรองรับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญ โดยมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ประกอบกับกรมชลประทานคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (กรณี One Map ข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2566) คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) (48%) น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 13,037 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยาคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ 6,897 ล้าน ลบ.ม. (38%) น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 7,177 ล้าน ลบ.ม.
โดยศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คาดการณ์พื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 รวมประมาณ 16.51 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ลุ่มเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด พื้นที่ 7.34 ล้านไร่และนอกเขตชลประทาน พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง รวม 60 จังหวัด พื้นที่ 9.17 ล้านไร่ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมรองรับผลกระทบด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะเกิดขึ้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการรองรับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 ดังนี้
1. แผนงานการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน / อาชีพทางเลือก โดยจะส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชทดแทนนาปรัง โดยปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับริมาณน้ำที่มี โดยไม่ต้องใช้น้ำจากระบบชลประทาน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงผึ้ง เป็นต้น
2. แผนงานเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในครัวเรือนโดยการสนับสนุนให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรรวมถึงเกษตรกร พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และปรับปรุงระบบกักเก็บน้ำให้เพียงพอ
3. แผนงานสร้างรายได้ หรือ ลดภาระค่าใช้จ่าย หรืออื่นๆ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรที่ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในระยะสั้น
และ 4. แผนงานป้องกันพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เตรียมการในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และในระยะต่อไปโดยเตรียมการจัดการระบบน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุก ในพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ กล้วยไม้ ลิ้นจี่ ส้มโอ เป็นต้น รวมถึงการเตรียมการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ สำหรับขยายผลในช่วงฤดูฝน ปี 2567
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ข้อเสนอแนะโครงการต่าง ๆ รวมถึงพิจารณากำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ และเตรียมเสนอขอรับจัดสรรงบกลางต่อไป