ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานและเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือในการจัดหาผลไม้ไทยคุณภาพสู่ตลาดจีนร่วมกับนางจาง เซียวเซียว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน ระหว่าง Shenzhen Pagoda Industry (Group) จำกัด (บริษัทพาโกดา) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ สำหรับพิธีการลงนามเอกสารความร่วมมือในการจัดหาผลไม้ไทยคุณภาพสู่ตลาดจีนมีจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความร่วมมือในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ระหว่างบริษัทพาโกดา กับ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 2) หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือในการจัดหาผลไม้คุณภาพของไทยสู่ตลาดจีนระหว่างบริษัทพาโกดา กับ Richfield Fresh Fruit Co., Ltd. 3) หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือในการจัดหาผลไม้คุณภาพของไทยสู่ตลาดจีนระหว่างบริษัทพาโกดา กับ Sangthai Produce Co., Ltd และ 4) หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือในการจัดหาผลไม้คุณภาพของไทยสู่ตลาดจีนระหว่างบริษัทพาโกดา กับ Fuzin Siam Inter Fruit Co., Ltd. ซึ่งคาดว่าภายหลังการลงนามจะมีการจัดซื้อทุเรียนประมาณ 13,824 ตัน และมังคุด 880 ตัน มูลค่ารวม 1,650 ล้านบาท
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลกมีจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ และอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร จึงส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะการผลิตผลไม้เมืองร้อนคุณภาพสูงมากมายหลายชนิด จึงได้ชื่อว่าเป็น Kingdom of Fruits และเป็นประเทศที่ส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้หลักการที่สำคัญ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย โดยมุ่งเน้นการยกระดับสินค้าภาคการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยการสร้างแบรนด์เนมสินค้าเกษตร การสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลไม้ไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนได้ 22 ชนิด และอยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดตลาดส่งออกผลไม้ไทยเพิ่มเติมอีกหลายรายการ ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญต่อคุณภาพของผลไม้ไทย รวมถึงมาตรฐานของกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อทำให้ผู้บริโภคชาวจีนจึงมั่นใจได้ว่าผลไม้ไทยนอกจากจะมีรสชาติที่ดีแล้ว ยังมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนกว่า 2.36 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 213,468 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย
“ขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตจีนในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีน ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศและหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันและขยายตลาดผลไม้ที่โดดเด่นและมีคุณภาพของไทยในตลาดจีนเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอย่างยั่งยืน” ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายหยู หุ้ยหย่ง ประธานบริษัทพาโกดา กล่าวว่า บริษัทพาโกดาได้จัดซื้อผลไม้ไทยคุณภาพมากกว่า 220,000 ตัน รวมถึงมีความร่วมมือกับสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุหลายราย พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้คุณภาพสูงของไทยตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดยฝ่ายพาโกดาได้มีการคัดสรรผลไม้ที่โดดเด่นและมีคุณภาพตามมาตรฐานการคัดเลือกสูงสุดของพาโกดา ภายใต้ระบบการแบ่งเกรดผลไม้ที่ถูกคิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกโดยพาโกดา ซึ่งใช้เกณฑ์ “สี่ระดับ หนึ่งกลิ่น หนึ่งปลอดภัย” ซึ่งผลไม้เหล่านี้ล้วนมาจากแหล่งผลิตที่สำคัญทั่วโลก มีการเจริญเติบโตตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ยึดมั่นหลักการผลไม้สุกตามธรรมชาติ และวางจำหน่ายในท้องตลาดช่วงเวลาที่รสชาติดีที่สุดเท่านั้น รวมถึงมีการทดสอบรายการความปลอดภัยมากกว่า 200 รายการ เพื่อให้ได้ผลไม้ที่ทั้งสด อร่อย และปลอดภัย
นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวฯ ยังมีการจัดพิธีเปิดงานเทศกาลผลไม้ไทย ประจำปี 2567 ซึ่งฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และบริษัทพาโกดา กำหนดจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 8 – 14 พฤษภาคม 2567 ณ ประเทศจีน เพื่อประชาสัมพันธ์คุณภาพมาตรฐานของผลไม้ไทย และการจัดจำหน่ายผลไม้คุณภาพของไทยผ่านหน้าร้านจำหน่ายผลไม้ของพาโกดา กว่า 6,000 สาขาทั่วประเทศจีน รวมถึงมีการนำสื่อมวลชนและผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leader: KOL) ของจีนเดินทางไปเยี่ยมชมสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้คุณภาพของไทย ณ จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 23 เมษายน 2567 อีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องเป็นเวลา 11 ปี มีธุรกิจของจีนที่มาลงทุนในไทยมูลค่ารวม 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดต่อเนื่องกัน และยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทยด้วย โดยในปี 2566 ประเทศจีนมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทยมูลค่า 15,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นการนำเข้าผลไม้มูลค่า 7,056 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าทุเรียนมูลค่ามากถึง 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18