1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ตราสัญลักษณ์ 132 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รมว.ธรรมนัส นำทีมผู้บริหารเกษตรฯ รับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี พร้อมดันกล้วยหอมทองคุณภาพ สู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
14 พ.ค. 2567
362
0
รมว.ธรรมนัสนำทีมผู้บริหารเกษตรฯ
รมว.ธรรมนัส นำทีมผู้บริหารเกษตรฯ รับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี พร้อมดันกล้วยหอมทองคุณภาพ สู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

        ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดกลางการเกษตรท่ายาง (หนองบ้วย) ภายหลังร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ โดยมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้รับฟังปัญหาการทำการเกษตร ความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้นำสหกรณ์ และพบปะสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นได้มอบโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร จำนวน 100 ฉบับ มอบปัจจัยการผลิต ให้แก่เกษตรกร จำนวน 20 ราย และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานกล้วยหอมทองจาก 4 หน่วยงาน

        สำหรับตลาดกลางการเกษตรท่ายาง (หนองบ้วย) เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตร โดยได้รับงบประมาณจากจังหวัดเพชรบุรี และกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเงินของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ในการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2542 มีพื้นที่ประมาณ 65 ไร่เศษ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่ายางและใกล้เคียง ทั้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปจะทยอยนำผลผลิตของตนเองมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นมะนาว กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ถั่วฝักยาว มะเขือ สับปะรด มะละกอ แตงกวา และข้าวโพด โดยมีทั้งการค้าส่งและค้าปลีก สามารถแบ่งสัดส่วนการขายเป็นการค้าส่งประมาณร้อยละ 70 และการค้าปลีกประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงราคาสินค้ากันเองตามความพึงพอใจและสภาวการณ์ของตลาดปลายทาง ซึ่งตลาดกลางแห่งนี้สามารถอำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิกได้ โดยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ขายมีแหล่งค้าขายสินค้าที่มั่นคง ไม่ถูกเอาเปรียบหรือถูกกดราคา สามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้โดยตรง พร้อมด้วยการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะบริการด้านข้อมูลข่าวสารทางการตลาดเพื่อประกอบการซื้อขายในตลาดกลาง มีปริมาณเงินทุนหมุนเวียนในตลาดวันละ 20 - 25 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาพืชผลการเกษตร

        จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เยี่ยมชมกระบวนการตัดแต่งและบรรจุกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ณ สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ซึ่งกล้วยหอมทองถือเป็นสินค้าเกษตรหลักของสหกรณ์ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ปัจจุบันมีสมาชิกที่ลงทะเบียนปลูกกล้วยกับสหกรณ์ จำนวน 231 ราย มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 2,000 ไร่/ปี โดยกล้วยหอมทองจะออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 2.5 ตันต่อไร่ โดยจัดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ แบ่งเป็น ตลาดในประเทศประมาณ 4,000 ตันต่อปี มีจำหน่ายที่ 7-11, Tops, Big C, Fuji supercenter และ Foodland เป็นต้น และตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น ส่งออกประมาณ 200 ตัน/ปี นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดเรื่องการนำกล้วยตกเกรดมาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น เค้กกล้วยหอม กล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ กล้วยเบรกแตก เป็นต้น

        ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ส่งเสริมแนะนำสหกรณ์ให้ความรู้กับสมาชิกเพื่อให้มีความเข้าใจระบบสหกรณ์ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทอง ใช้หลักการตลาดนำการผลิต และให้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนมีการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกล้วยหอมทอง นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดต้นทุน ลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความรู้ และทักษะให้กับเจ้าหน้าที่การตลาดของสหกรณ์ เพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะถ่ายทอดแนะนำให้สมาชิกปลูกกล้วยหอมทอง ปัจจุบันสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด สามารถบริหารจัดการสหกรณ์ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยสหกรณ์กำหนดกลยุทธ์ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกกล้วยหอมทองที่มีคุณภาพส่งต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและถ่ายทอดสู่ทายาทเกษตรกรเพื่อรักษาไว้ของชุมชนต่อไป

        นอกจากนี้ การผลิตกล้วยหอมทองของสหกรณ์แห่งนี้ เป็นระบบการผลิตแบบปลอดภัยจากสารพิษ 100% ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูก รวมทั้งปลูกในพื้นที่เหมาะสมกับการเติบโต ได้รับการรับรองมาตรฐานการปลูกกล้วยหอมทองแบบปลอดภัย GAP และมีระบบโรงคัดแยกได้มาตรฐาน GMP, HACCP ปัจจุบันสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของสมาชิกโดยการส่งเสริมปลูกกล้วยหอมทอง และสามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ โดยจัดทำศูนย์เรียนรู้และศึกษาดูงานเรื่องกล้วยหอมทองปลอดภัย ทั้งในแปลงกล้วยของสมาชิกและที่สหกรณ์ ซึ่งเป็นโรงงานคัดแยก มีผู้สนใจศึกษาดูงานทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง