กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (11 ก.ย.67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 49,885 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 26,452 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,142 ล้าน ลบ.ม. (61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 9,729 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำท่าส่วนใหญ่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า พายุไต้ฝุ่น ยางิ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 13 -15 กันยายนนี้ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้พิจารณาพร่องน้ำตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หลายพื้นที่สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 10 จังหวัด กรมชลประทาน ยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตรา 1,399 ลบ.ม. ต่อวินาที เนื่องจากระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะควบคุมการระบายน้ำในอัตรานี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14 -22 กันยายน 67 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ยกตัวสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังระดับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด