“รมช.อิทธิ” Kick off ปล่อยคาราวานรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน กว่า 5 พันตัน พร้อมหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบภัยพร้อมกันทั่วประเทศ
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 5,355,000 กิโลกรัม และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย โดยมี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ ถนนติวานนท์ อำเภอบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุจนส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง เกิดผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน หนองคาย และนครพนม เป็นต้น ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง บางพื้นที่มีการอพยพสัตว์เลี้ยงไปบนพื้นที่สูงที่มีความปลอดภัย มีสัตว์เจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยการช่วยเหลืออพยพสัตว์ นำหญ้าอาหารสัตว์ไปมอบให้ และส่งหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ในการดูแลสุขภาพสัตว์ จนสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายที่จะให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ รวมถึงแผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในด้านอื่นๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับเกษตรกรต่อไป
“รมว.เกษตรฯ ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์ ดูแลช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร ไม่ให้ขาดแคลนท้้งอาหารและยารักษาโรคต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งการปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวนกว่า 5 ตัน และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ทั่วประเทศในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ลดความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในช่วงวิกฤติ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และดำเนินการทั้งในช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงเผชิญเหตุ และหลังเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยา ลดขั้นตอน เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบอุทกภัย และให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด” นายอิทธิ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กล่าว
ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่เกิดอุทกภัย กรมปศุสัตว์ได้ระดมสรรพกำลังออกไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านการอพยพสัตว์ เสบียงสัตว์ตลอดจนการรักษาพยาบาลสัตว์ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสียหายให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรที่ต้องการอาหารสัตว์ รวมถึงการดูแลสุขภาพสัตว์ที่เจ็บป่วยอีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้การระดมความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีความเป็นเอกภาพ กรมปศุสัตว์จึงได้จัดกิจกรรมปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน พร้อมด้วยหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ โดยมีเป้าหมายดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อนำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 5,355,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนอาหารสัตว์ จำนวน 20,300 กิโลกรัม เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้โครงการ รวมน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์เลี้ยง ไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ พร้อมหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในทุกพื้นที่
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น กรมปศุสัตว์ได้สำรวจจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านปศุสัตว์ พบว่ามีจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครพนม หนองคาย อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ เลย สกลนคร และบึงกาฬ จำนวน 31 อำเภอ 86 ตำบล 309 หมู่บ้าน เกษตรกร 7,958 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม จำนวน 320,438 ตัว เป็นโค 23,007 ตัว กระบือ 12,443 ตัว สุกร 12,373 ตัว แพะ/แกะ 903 ตัว และสัตว์ปีก 271,712 ตัว และแปลงหญ้าที่ได้รับความเสียหายอีกจำนวน 302.50 ไร่ ซึ่งกรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าโดยสนับสนุนเสบียงสัตว์ ไปแล้ว จำนวน 302,925 กิโลกรัม ช่วยเหลืออพยพสัตว์ จำนวน 28,713 ตัว สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ จำนวน 635 ชุด รักษาสัตว์ จำนวน 284 ตัว และมอบถุงยังชีพสัตว์ จำนวน 91 ถุง
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเสบียงสัตว์รวมไปถึงความช่วยเหลือด้านการปศุสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กรมปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315 และที่ Application DLD 4.0 เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีต่อไป