ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 4 โดยมี ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2567 โดย ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กรมการข้าว เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ธัญพืชเมืองหนาว ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต รวมถึงการสาธิตเทคโนโลยีกระบวนการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากธัญพืชเมืองหนาวไทยเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ ได้มอบรางวัลกิจกรรมประกวดภาพถ่าย แชะ แชร์ เช็คอิน ณ ทุ่งธัญพืชเมืองหนาว และกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวสาลีสายพันธุ์ไทย อีกด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมการสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ในส่วนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่สูง ได้มีการหารือร่วมกับกรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการขยายพันธุ์เมล็ดข้าว รวมถึงส่งเสริมการปลูกข้าวสาลีให้แก่เกษตรกรเนื่องจากเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตต่อไร่และราคาผลตอบแทนที่ค่อยข้างสูง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ทดแทนการปลูกพืชอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนไม่คุ้มทุน นอกจากนี้กรมการข้าวได้เตรียมประกาศเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 สายพันธุ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในการทำเกษตรกรรมนั้นจำเป็นต้องดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน” รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ รมว.ธรรมนัส ได้เดินทางต่อไปยังโครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำวังหิน ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงประตูระบาย พร้อมอาคารประกอบ และเรียงกล่องลวดตาข่ายภายในบรรจุหินใหญ่ เพื่อป้องกันการกัดเซาะด้านหน้าและด้านท้ายประตูระบายน้ำทั้งสองฝั่ง สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กักเก็บน้ำจากลำน้ำแม่กลาง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในด้านการเกษตร และการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่กว่า 1,000 ครัวเรือน