รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 16 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ เติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมทั้งสถานการณ์ PM 2.5
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม ณ โรงเก็บเครื่องบิน 7 สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยภายในงานมีการประกอบพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นประธานได้ตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 9 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับเครื่องบิน ผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้านักบิน จำนวน 9 ชุด พร้อมกล่าวให้ขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วน พร้อมทำพิธีปล่อยคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการไปประจำการแต่ละหน่วยทั่วประเทศ ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวงในปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยต่อภาคการเกษตรในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหาการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติดังกล่าว
สำหรับในปี 2567 นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงฯ มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยกรมฝนหลวงฯ มีแผนในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 16 หน่วย โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ และได้ปรับแผนในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในเดือนมีนาคม และเมษายน 2567 จำนวน 7 หน่วย โดยใช้อากาศยานรวมทั้งสิ้น 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ อากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ ในการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้
1. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่
2. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดแพร่
3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี
4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี
5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา
6. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี
7. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 4 แห่ง ที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดระยอง อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วยเหลือพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้เพื่อบรรเทาป้องกันการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองนาดเล็ก PM2.5 และเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำ ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และยังคงติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปวางแผนในการปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสภาพภูมิอากาศ และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำของประเทศไทย เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงฯ และขอรับบริการฝนหลวง ได้ตามช่องทางดังนี้ หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ