ในสมัยอยุธยา แนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปจาก สมัยสุโขทัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูผ่านทางอาณาจักรขอม พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยาเพิ่มคุณลักษณะของความเป็น “เทพเจ้า” ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจเหนือสามัญชน พระมหากษัตริย์ คือ พระนารายณ์อวตารลงมายังโลกมนุษย์เพื่อขจัดทุกข์เข็ญ เป็น “เทวราชา” หรือ ราชาผู้เป็นเทวะ ซึ่งมีราชธรรมเป็นเครื่องกำกับ พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา จึงเป็นทั้ง “เทวราชา” และ "ธรรมราชา” ในขณะเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก พระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระรามาธิบดี" "พระศรีสรรเพชญ์”, “พระมหาจักรพรรดิ” “พระเจ้าทรงธรรม" และ “พระนารายณ์"
พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์สืบทอดคติทั้งสองต่อมา แม้ว่า ในด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีในราชสำนัก พระมหากษัตริย์จะทรงเป็น “เทวราชา” แต่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ได้ทรงแก้ไขแบบแผน ธรรมเนียมให้เป็นคุณแก่ราษฎร ดังเช่นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกเลิกประเพณีการ ยิงกระสุนในระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนิน อันเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
ในด้านปฏิบัติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็น "ธรรมราชา" ทรงยึดทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองและทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญ รุ่งเรือง พระมหากษัตริย์เป็นองค์ความยุติธรรม ความมีเมตตาเป็นที่พึ่งแห่ง ราชฎร พระมหากษัตริย์จึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองราษฎร และรักษาชาติบ้าน เมืองให้มีความสงบร่มเย็น ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดงว่า
“…ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี…"
ครั้นล่วงมาถึงสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มิได้มีอำนาจในการบริหารประเทศโดยตรง หากพระองค์จะทรงวางพระราชกิจทั้งปวง คงไว้แต่พระราชกรณียกิจในฐานะองค์ ประมุขอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศก็ย่อมทรงกระทำได้ แต่ด้วยน้ำพระทัยที่ ทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำ เพื่อราษฎรตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ทรง เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชน ให้เกิด ความร่มเย็นเป็นสุขตามครรลองแห่ง “ธรรมราชา” โดยแท้ สมดังพระปฐม บรมราชโองการที่ทรงไว้ในวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติว่า
“...เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม..."